ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ “A-/Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday January 19, 2006 08:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (MINT078A, MINT07NA, MINT10DA, MINT105A) ของ บริษัท
ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมคือ บริษัท รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท จำกัด (มหาชน) ในระดับเดิมที่ “A-” และคงแนวโน้มอันดับเครดิตที่ “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานและความสำเร็จในการบริหารงานของคณะผู้บริหารในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) รวมทั้งการมีกระแสเงินสดจากธุรกิจที่หลากหลาย การมีโรงแรมที่กระจายตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ และการเป็นผู้นำในตลาดอาหารบริการด่วน อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่ธุรกิจโรงแรมมีลักษณะเป็นวงจรซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลของปี และถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงและอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” เป็นผลจากการคาดการณ์ว่าความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายกิจการอย่างมาก ปัจจุบันถือได้ว่าบริษัทเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมที่มีการกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยบริษัทบริหารโรงแรม 9 แห่ง รวม 1,955 ห้องในประเทศไทย และรับบริหารโรงแรมในประเทศเวียดนาม 1 แห่ง จำนวน 122 ห้อง บริษัทบริหารโรงแรมภายใต้ 3 ตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก คือ Mariott ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ รวมทั้ง JW Mariott และ Four Seasons ซึ่งเป็นสัญญาจ้างบริหาร นอกจากนี้ยังบริหารโรงแรมภายใต้ตราสัญลักษณ์ของตนเอง คือ อนันตรา ด้วย โดยโรงแรมทั้งหมดตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ตลอดจนมีการบำรุงรักษาและตกแต่งตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจอาหารบริการด่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2546 โดยซื้อหุ้นของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบเครือข่ายของต่างประเทศ 4 ตราสัญลักษณ์ คือ สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ ควีน และ เบอร์เกอร์ คิง รวมทั้ง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของบริษัทเอง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 มีสาขารวมทั้งหมด 482 แห่ง และแฟรนช์ไชส์ 76 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะผู้บริหารของกลุ่มซึ่งรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงที่เพิ่งร่วมงานกับกลุ่มบริษัทในปี 2546 และ 2547 ล้วนมีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนกับเครือข่ายธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในอนาคตบริษัทวางแผนการขยายธุรกิจโรงแรมโดยการร่วมทุน (Joint Venture) ในฐานะเป็นผู้บริหารโรงแรม และโดยการให้แฟรนไชส์ในธุรกิจอาหารบริการด่วน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้ที่ค่อนข้างกระจายตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 บริษัทมีรายได้ 51% จากธุรกิจโรงแรม 41% จากธุรกิจอาหารบริการด่วน 4% จากค่าเช่าจากศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ และ 3% จากธุรกิจสปา บริษัทมีรายได้รวม 7,300 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้น 34.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีการถือหุ้นเพิ่มในโรงแรม 2 แห่งคือ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา จาก 50% เป็น 100% และโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ จาก 42% เป็น 90.83% ผลประกอบการจากธุรกิจโรงแรมของบริษัทดีขึ้น โดยมีอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room -- RevPAR) ในระดับ 2,823 บาทต่อห้องในปี 2547 คิดเป็นอัตราเติบโต 23.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2,911 บาทต่อห้องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ในขณะที่ผลประกอบการธุรกิจอาหารบริการด่วนก็ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนเพิ่มเป็น 4,602 ล้านบาทในปี 2547 คิดเป็นอัตราเติบโต 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3,803 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโต 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ระดับหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทใช้เงินกู้บางส่วนไปในการขยายธุรกิจ แต่กระแสเงินสดรวมของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้น ระดับของเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทถือว่ามากพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 21.41% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เทียบกับระดับ 25.07% ในปี 2547 ทั้งปี อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 61.72% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 จาก 57.51% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547 บริษัทมีแผนเพิ่มทุนจำนวน 1,200 ล้านบาทโดยผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงต้นปี 2549 ซึ่งอาจจะช่วยให้ระดับหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหากการเพิ่มทุนดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ