กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--กฟผ.
กฟผ. เผยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีระดับน้ำสูง แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานกับกรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังไม่ต้องเปิดประตูระบายน้ำล้น
วันนี้ (11 ต.ค.) นายสมบัติ ศานติจารี รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ณ เวลา 08.00 น. ที่เขื่อนภูมิพล ระดับกักเก็บน้ำอยู่ที่ 259.20 เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ขณะที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุดเท่ากับ 260 ม.รทก. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ระดับกักเก็บน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 161.36 ม.รทก. ขณะที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุดเท่ากับ 162 ม.รทก. ซึ่งจนถึงขณะนี้เขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่งยังสามารถรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างได้อีก 250 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ กฟผ. ยังไม่มีความจำเป็นในการเปิดประตูระบายน้ำล้น (Spillway) เนื่องจากสามารถจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ กฟผ. ได้ประสานงานกับกรมชลประทานในการวางแผนการระบายน้ำอย่างใกล้ชิด ได้มีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนตลอด 24 ชั่วโมง
“ขอให้มั่นใจว่า การระบายน้ำยังอยู่ในความควบคุมของ กฟผ. กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการกักเก็บน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ในระดับปัจจุบันไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างหรือตัวเขื่อนแต่อย่างใด ขอยืนยันว่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังมีความมั่นคงแข็งแรง แม้ว่าจะกักเก็บในปริมาณสูงสุดก็ตาม” รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้ากล่าวในที่สุด
สำหรับสถิติการกักเก็บน้ำที่ผ่านมาใน 2 เขื่อนใหญ่ของ กฟผ. เขื่อนภูมิพล ประสบกับสถานการณ์ปริมาณน้ำเต็มอ่างครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2518 ระดับน้ำกักเก็บอยู่ที่ 260.14 ม.รทก. และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ระดับน้ำกักเก็บอยู่ที่ 260 ม.รทก. ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำเต็มอ่างครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2518 ระดับน้ำกักเก็บอยู่ที่ 162.52 ม.รทก. และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 ระดับน้ำกักเก็บอยู่ที่ 162.12 ม.รทก.