กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--พพ.
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้ข้อมูล กรณีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมระบุว่า มีการตรวจพบสารพิษกลุ่มคาร์บอนิลซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ ว่า พพ. ได้ให้ความสำคัญกับศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น ทำการตรวจวัดมลพิษจากรถยนต์คาร์บิวเรเตอร์ที่ใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ ตรวจวัดมลพิษจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ E20 โดยทำการตรวจวัดสารพิษที่สำคัญ เช่น THC CO NOx ปรากฏว่า ค่า THC ลดลงร้อยละ 5-25 ค่า CO ลดลงร้อยละ 15-30 สำหรับค่า NOx เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของประเทศบราซิลที่ระบุว่า ค่า THC ลดลงร้อยละ 12 ค่า CO ลดลงร้อยละ 32 สำหรับค่า NOx เพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ พพ. ยังได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษทำการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้แก็สโซฮอล์ ในช่วงปี 2548-2549 ผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดอากาศในกรุงเทพฯ 5 แห่ง พบว่า สารกลุ่มคาร์บอนิล เช่น Formaldehyde ในช่วงเวลาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้พบว่ามีตกค้างในบรรยากาศในปริมาณที่ไม่มาก จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า หากรถที่ใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์เป็นรถใหม่มีสภาพดีจะสามารถควบคุมและลดการเกิดสารพิษให้มีปริมาณที่น้อยลงได้ และระบายออกสู่บรรยากาศไม่มาก แต่ในรถเก่าจะก่อ ให้เกิดมลพิษได้มากกว่า ดังนั้นการจะเฝ้าระวังมิให้สารพิษเพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศจากการใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ จะต้องทำการควบคุมไม่ให้เกิดการระบายสารพิษจากตัวรถโดยเฉพาะในรถเก่าจะต้องตรวจสอบให้เครื่องยนต์มีสภาพที่สมบูรณ์และให้อุปกรณ์ลดมลพิษ (Catalytic Converter และ Carbon Canister) สามารถทำงานได้ตามปกติ
สำหรับสารพิษทั้ง 2 กลุ่ม คือ Aromatic เช่น Benzene และสารมลพิษในกลุ่ม Carbonyl เช่น Formaldehyde และ Acetaldehyde เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ใน Benzene จะรุนแรงกว่า และในต่างประเทศมีการกำหนดค่ามาตรฐาน Benzene เพื่อทำการตรวจวัดและเฝ้าระวัง แต่สำหรับในกลุ่ม Carbonyl มีความชัดเจนน้อยกว่าและในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด ทั้งนี้จากผลการศึกษาหลายๆ แหล่ง พบว่า เมื่อมีการใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ E10 E20 หรือสูงถึง E85 พบว่า สาร Benzene จะลดลงตามลำดับ