กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ปภ.
ภัยธรรมชาติที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อนนอกจากภัยแล้งแล้ว ยังมักเกิดพายุฤดูร้อน ในช่วงเดือนมีนาคม — พฤษภาคม โดยสภาพอากาศในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อนจะแปรปรวนอย่างฉับพลัน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในพื้นที่ไม่กว้างนัก แต่มักสร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้างและพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ดังนี้
ก่อนเกิดพายุ ควรตรวจตราดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากชำรุดให้ซ่อมแซมทันที กรณีตรวจพบกิ่งไม้ปกคลุมสายไฟฟ้า ต้นไม้ ป้ายโฆษณาใกล้ล้มหรือติดตั้งไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการแก้ไข หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนภัยให้จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวได้ในที่มิดชิด ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ เพื่อป้องกันผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ขณะเกิดพายุ ควรหลบในอาคารบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตู - หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนและสิ่งของปลิวเข้ามาในบ้านจนได้รับความเสียหาย ห้ามหลบบริเวณใต้ต้นไม้ เสาไฟฟ้าหรือใกล้ป้ายโฆษณา เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับและถูกฟ้าผ่าได้ ที่สำคัญ ในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองควรงดเว้น การประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ตลอดจนระมัดระวังอันตรายจากลูกเห็บที่อาจทำให้บาดเจ็บได้
หลังเกิดพายุ ควรตรวจดูจนแน่ใจว่าพายุสงบแล้วจึงออกไปสำรวจความเสียหาย หากพบต้นไม้ใกล้ล้ม สายไฟฟ้าขาดหรือสายไฟฟ้าพาดเกี่ยวกับต้นไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขทันที
แม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญกับพายุฤดูร้อนได้ แต่การเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้