กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
บนถนนสายที่ทอดยาว ห่างไกลจากตัวเมืองลำพูน สองข้างทางยังเต็มไปด้วยต้นไม้เรียงรายหนาแน่น แม้การวิ่งต้านลมจะค่อนข้างหนาว แต่รถเวสป้าหลากสีหลายคันในนาม “หริภุญชัยคลับ” ก็ยังคงแล่นทวนกระแสลม มุ่งหน้าสู่ปลายทาง ที่ซึ่งเจ้าของของมันกำลังจะไปหยิบยื่นความสุขให้คนอื่น และตัวเขาเองยังได้รับความสุขใจตอบแทน
“เบลล์” — นายชยุตรา หน่อจีรา เด็กหนุ่มหน้าใสวัย 24 ปี แกนนำกลุ่ม “หริภุญชัยคลับ” กับรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว ผมทรงแอฟโร่ ไว้หนวด และเคราแพะพอประมาณ ดูโดดเด่นแม้กับกลุ่มวัยรุ่น-วัยซน “เที่ยว เล่น เต้น ร้อง” ทั่วไป ที่ดูจะเหมาะกับการเที่ยวเล่นตามศูนย์การค้าและคลับบาร์มากกว่าการมาอยู่ในมาดของแกนนำเยาวชนจิตอาสาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น แต่หากใครได้รู้ถึงแนวคิดและการใช้ชีวิตของเบลล์แล้ว จะทำให้ทราบได้แน่ว่า เขามีความใฝ่ฝันอยากพัฒนา “จังหวัดลำพูน” -บ้านเกิดซ่อนอยู่
“เกิดมาเป็นคนลำพูน แล้วทำอะไรให้ลำพูนหรือยัง” ประโยคที่เบลล์มักเอ่ยถึงบ่อยๆ เหมือนเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ คล้ายจะย้ำกับตัวเอง และพลอยกระแทกใจใครหลายคน ซึ่งไม่เฉพาะแต่คนลำพูน แต่หมายถึงทุกคนที่มี “บ้าน” อยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก ที่อาจมีพันธะอะไรสักอย่างติดค้างกับบ้านเกิด และเป็นคำถามนี้เองที่ทำให้เบลล์ลุกขึ้นมาอะไรดีๆ ตอบแทนจังหวัดลำพูน นอกเหนือจากการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และการทำงานเป็นช่างคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคลำพูน สาขาอิเลคทรอนิกส์
เบลล์ เล่าว่า เริ่มแรกกับงานจิตอาสา เบลล์และเพื่อนๆ ที่หลงใหลในรถเวสป้า -รถเก่าได้รวมกลุ่มกันในนาม “หริภุญชัยคลับ” ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อเป็นที่พบปะ พูดคุย ถึงสิ่งที่พวกเขาหลงใหล ต่อมาจึงขยายขอบเขตไปถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อจังหวัดลำพูนหลายต่อหลายอย่าง เช่น การนำสิ่งของและเสื้อผ้าไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้ในชนบท การสร้างสนามกีฬาให้น้องนักเรียน การกำจัดผักตบชวาออกจากหนองน้ำจามเทวี รวมถึงการเปิดกว้างพบเพื่อนใหม่ แวะเวียนไปพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ทำกิจกรรม อย่างการช่วยน้องๆ บ้านไร่อ้อยสร้างสนามเปตอง ช่วยกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านจำขี้มดทำฝายกั้นน้ำ ฯลฯ
กลุ่มหริภุญชัยคลับยังได้จัดผ้าป่าขอบริจาคของเก่า -ของโบราณของเมืองลำพูนในอดีต และการเดินกล่องในตัวเมืองลำพูนทุกคืนวันศุกร์ เพื่อหาข้าวของและทุนจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์เมืองลำพูน ที่มี “อ้ายโอ๊ค” นายนเรนทร์ ปัญญาภู พี่เลี้ยงใจดี ผู้ขนานนามตัวเองว่าเป็น นักจดหมายเหตุแห่งพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองจังหวัดลำพูน เป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งการได้พบพี่เลี้ยงที่มีจิตอาสารักบ้านเกิดผู้นี้ก็ได้ช่วยให้ความคิด ความฝัน ของเบลล์และเพื่อนลุ่มลึก ชัดเจนขึ้น
แต่สำหรับกิจกรรมที่ทำให้เบลล์กับเพื่อนภูมิใจ คือ กิจกรรมฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงสาย หรือ “การลอยกะโล้งมะพร้าว” ของพ่อบุญตัน วิชัยพรหม ผู้ล่วงลับ ซึ่งพ่อบุญตันเป็นพ่อครัวประจำคุ้มเจ้า “เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์” เจ้าผู้ครองนครลำพูน โดยกิจกรรมนี้ทำให้เบลล์ได้สัมผัส ซึมซับ และมีความรักในวัฒนธรรมชาวลำพูนด้วยตัวของเขาเอง ส่วนอีกผลงานที่น่าภาคภูมิใจ คือ การจัดทำพิพิธภัณฑ์สามทหาร โดยอนุรักษ์ปั้มน้ำมันสามทหารที่ยังหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทยที่จังหวัดลำพูน (ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นปั้มน้ำมัน ปตท) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยหลังจาก ปตท ทราบถึงสิ่งที่บลล์และเพื่อนทำ ก็ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ด้วย
ส่วนเรื่องของ “ทุน” ในการทำกิจกรรม ที่ดูจะเป็นอุปสรรคก้อนโตสำหรับกลุ่มกิจกรรมหลายแห่ง แต่สำหรับเบลล์และเพื่อนมีวิธีบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี โดยใช้วิธีการเดินกล่องขอรับการบริจาคจากชาวลำพูนที่มองว่าเป็นสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนแล้ว เบลล์กับเพื่อนยังได้พลิกฟื้นแนวคิด “กลุ่มหนุ่มสาว” หรือการลงทุนลงแรงช่วยเหลือสังคมของคนภาคเหนือรุ่นก่อนมาใช้กับการทำงานของกลุ่ม คำว่า “กลุ่มหนุ่มสาว” หมายถึงผู้ที่อาสาเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม นอกจากจะต้องลงแรงกาย แรงใจ และสละเวลามาทำสาธารณประโยชน์แล้ว ยังมีการลงขันใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจการของส่วนรวม
“สำหรับผมแล้ว เราไม่ต้องการเงินสนับสนุนจากฝ่ายไหน เราอยากทำกิจกรรมอะไรก็ต้องตั้งเงื่อนไขกันเองว่า เราต้องการทำอะไร มีเป้าหมายอย่างไร ไม่มีใครมาตั้งเป้าหมายให้เรา เราคิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เหมือนกับกลุ่มหนุ่มสาวเขาคิดจะทำอะไร จะใช้เงินแบบไหน ต้องเก็บเงินเข้ามาทำไหม เขามีวิธีหาเงินเอง” ด้วยแนวคิดนี้เองทำให้กิจกรรมของกลุ่มมีความหลากหลาย มีความคิดที่เป็2นอิสระ ไร้รูปแบบตายตัว สามารถใช้พลังความรู้ -พลังสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องรอการสนับสนุนจากใคร โดยมีที่มาที่เริ่มต้นจากภายในใจตนเองก่อน เพื่อให้เกิดความตั้งใจและความเสียสละอยากช่วยเหลือจริงๆ
เบลล์กล่าวถึงหลักคิดด้านจิตอาสาของเขาและเพื่อนด้วยว่า ความคิดการทำประโยชน์ให้จังหวัดลำพูนเกิดขึ้นมาจากภายในตัวของเขาเอง ที่อยากทำประโยชน์ให้กับจังหวัดลำพูนบ้าง ไม่มีใครบังคับ เกิดจากจิตสำนึก อีกทั้งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากแบบอย่างที่ดีในพื้นที่ และแม้ว่าเบลล์จะทำกิจกรรมจิตอาสามาไม่น้อย แต่ชีวิตด้านอื่นก็ไม่ถูกทอดทิ้ง เบลล์บอกว่า ทุกวันนี้ เขากำลังจัด “ความสมดุลให้แก่ชีวิตในสามด้าน” คือ ด้านครอบครัว- ที่เขาจะต้องมีเวลาทานข้าวร่วมกันกับพ่อและแม่ ทำงานบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน ดูแลพ่อแม่, ด้านอาชีพการงาน- ที่ต้องเป็นลูกจ้างที่ดีของบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน และด้านสังคม— ที่หมายถึงการทำงานเพื่อสังคม เป็นการจัดสรรเวลาให้แก่ตนเอง โดยไม่ละเลยผู้อื่น
กล่าวได้ว่าเป็นจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ ที่มีทั้งตัวและหัวใจอย่างครบครัน ส่วนเพื่อนใหม่ที่อยากรู้จัก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเบลล์และเพื่อนกลุ่มหริภุญชัย สามารถพบกันได้ที่ www.hanoomarn.hi5.com แล้วจะรู้ว่าเด็กหนุ่มรายนี้ยังมีจิตอาสาอีกมากให้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน.
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884, 0-2544-5692
หรือติดตามความเคลื่อนไหวของมูลนิธิ และดาวน์โหลดภาพและรายละเอียดข่าวได้ที่ www.scbfoundation.com