กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกัน (GLOW089A, GLOW09OA, GLOW10DA) ของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (โกลว์) ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท โกลว์ เอสพีพี จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลงานในการจ่ายกระแสไฟฟ้าและการให้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับ และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Suez-Tractebel Energy Holdings Cooperative U.A. (STEH) อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าและความไม่แน่นอนของการแปรรูปกิจการไฟฟ้าด้วย
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้และมีความสามารถในการจัดสรรเงินทุนในการขยายธุรกิจโดยไม่กระทบต่อสถานะทางการเงิน แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของกลุ่มหลายครั้ง แต่ก็คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของผลประกอบการและความสามารถในการแข่งขันภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ Suez ที่จะดำเนินการเร็วๆ นี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะสั้น
ทริสเรทติ้งรายงานว่ากลุ่มโกลว์ประกอบด้วยผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) 4 ราย และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) 1 ราย ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,709 เมกะวัตต์ โดยที่กลุ่มโกลว์เป็นกลุ่ม SPP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 996 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 968 ตันต่อชั่วโมง ภายใต้โครงการ SPP และ IPP บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) อายุ 21-25 ปีกับ กฟผ. และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุระยะยาวอายุเฉลี่ย 10-15 ปีกับลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ในปี 2548 รายได้ของบริษัท 62% มาจาก กฟผ. และ 38% มาจากลูกค้าอุตสาหกรรม โดยรายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็น 85% ของรายได้รวมของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธุรกิจ SPP ของโกลว์ส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและ อีสเทิร์นซีบอร์ด โรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ประกอบด้วยหน่วยผลิตจำนวน 20 หน่วยซึ่งเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โรงงานต่างๆ เหล่านี้ยังสนับสนุนซึ่งกันและกันบางส่วนโดยสามารถสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่กัน อีกทั้งโครงข่ายท่อไอน้ำยังสามารถลดความเสี่ยงจากกรณีการจ่ายน้ำถูกขัดจังหวะหรือกรณีการสูญเสียความดันจากสาเหตุที่บางหน่วยการผลิตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทคงอัตราความน่าเชื่อถือได้ในระดับสูง ภายหลังจากที่บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2548 กลุ่ม Suez ได้ลดการถือหุ้นลงจาก 99% เป็น 69% Suez เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการนานาชาติซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สถานภาพทางการตลาดที่แข็งแกร่งของ Suez มาจากความสามารถในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 56,000 เมกะวัตต์ และในปี 2548 มีรายได้รวม 41,489 ล้านยูโร Suez ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทและได้ให้การสนับสนุนทั้งในด้านกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ผลประกอบการของโกลว์ในปี 2548 เป็นที่น่าพอใจ บริษัทสามารถรักษาระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้อยู่ที่ 95.7% และการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยรวมอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าอิสระของ บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด (GIPP) อยู่ที่ 83.7% ลดลงจาก 96.7% ในปี 2547 เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงและหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่ระดับ 5.2% ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการควบรวม บริษัท โกลว์ จำกัด (GlowCo) ในเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งได้รวม บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด (Glow SPP1) และ GIPP เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทโกลว์ ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้ในปี 2548 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2547 โดยที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 57% เป็น 4,314 ล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนรายได้จากการดำเนินงานต่อยอดขายลดลงเล็กน้อยจาก 29.4% สู่ระดับ 29.1% เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งเพียงพอที่จะใช้เป็นทุนในการขยายการผลิตระยะที่ 4 จากการใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน