กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ปภ.
เหตุการณ์เพลิงไหม้รถเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้ขับขี่ไม่ดูแลเอาใจใส่เครื่องยนต์ ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นไม่สามารถระบายความร้อน ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด (OVERHEATED) และเกิดเพลิงไหม้ได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีป้องกันเครื่องยนต์ร้อนจัด ดังนี้
ก่อนขับขี่ ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำ หากเป็นรถใหม่ควรตรวจสอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ส่วนรถที่มีอายุการใช้งานเกิน ๕ ปี ควรตรวจสอบ ๒ — ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ หมั่นเติมน้ำสะอาด และถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทุก ๔ — ๖ เดือน เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือตะกอนตกค้าง ทำให้หม้อน้ำอุดตัน พร้อมตรวจสอบระบบต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ ดังนี้ สายพานเครื่องยนต์ไม่หย่อนหรือตึงเกินไป พัดลมระบายความร้อนอยู่ในสภาพที่ ใช้งานได้ดี ไม่แตกหักหรือบิดงอ หากตรวจพบรอยรั่วตามจุดต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ เช่น ท่อยางหม้อน้ำ ครีบรังผึ้งระบายความร้อน ปั้มน้ำ เป็นต้น ควรให้ช่างที่มีความชำนาญการดำเนินการซ่อมแซมทันที
ขณะขับขี่ ผู้ขับขี่สามารถสังเกตอาการเครื่องยนต์ร้อนจัดได้จากเข็มวัดอุณหภูมิที่หน้าปัด โดยปกติเข็มวัดอุณหภูมิจะอยู่ระหว่างตัว C และ H หากเข็มวัดอุณหภูมิเคลื่อนมาอยู่ใกล้ตัว H แสดงว่าเครื่องยนต์ร้อนจัด
กรณีเครื่องยนต์ร้อนจัด ผู้ขับขี่ควรรีบปิดแอร์ และนำรถจอดเข้าข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัยในทันที และรีบเปิดฝากระโปรงรถเพื่อระบายความร้อนออกจากห้องเครื่อง แต่หากมีไอน้ำพุ่งขึ้นมาจากฝากระโปรงรถ ควรรอจนความร้อนของเครื่องยนต์ลดลง แล้วจึงค่อยเปิดฝากระโปรงรถ ไม่เปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะไอน้ำอาจพุ่งขึ้นมาจนทำให้บาดเจ็บได้ และห้ามราดน้ำที่เครื่องยนต์ เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ในขณะเปิดฝาหม้อน้ำควรนำผ้าหนาๆ มาคลุมหรือวางบนฝาหม้อน้ำ กรณีที่น้ำในหม้อน้ำเหลือน้อยหรือหมด ควรรอจนเครื่องยนต์เย็นลง แล้วจึงค่อยเติมน้ำเปล่าหรือน้ำยาหล่อเย็นอย่างช้าๆจนเต็ม และปิดฝาหม้อน้ำให้สนิท จากนั้นให้ลองสตาร์ทเครื่องยนต์ให้เดินเบา เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องยนต์ หากพบรอยรั่วซึมควรแจ้งช่างผู้ชำนาญการดำเนินการซ่อมแซมทันที เพื่อป้องกันเครื่องยนต์ร้อนจัด จนเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้รถ