กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
หากมองย้อนกลับไปในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ความตื่นตัวทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหารยังอยู่ในวงไม่กว้างขวางนัก โดยมีเพียงสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อของภาครัฐเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีความแข็งขันและบรรจุภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งว่าในปัจจุบันมีสถาบันมากกว่า 70 แห่ง ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันราชภัฏ ได้ยอมรับถึงความสำคัญ เร่งพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอาหารเพื่อผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพทัดเทียมกับ Food Science ระดับโลก
สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (หรือ FoSTAT) เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญของแวดวงอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และมีส่วนช่วยพัฒนาบุคลากรนับหลายแสนคน ตลอดระยะเวลา 30 ปี เป็นตัวกลางของการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านวิทยาการ การจัดเสวนาทางวิชาการ การฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นความปลอดภัยของอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดหลักสูตรอบรมคนไทยที่จะต้องนำเสนอข้อมูลและผลงานต่างๆ เป็นภาษา อังกฤษต่อนานาประเทศอีกด้วย
ความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านฟู้ดซายน์ของประเทศ ต้องได้รับการสนับสนุนในหลายๆ ด้านจากภาคเอกชนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารด้วยเช่นกัน อย่างเช่นความร่วมมือระหว่าง FoSTAT กับ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่มุ่งพัฒนานักฟู้ดซายน์โดยมุ่งเน้นตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาบุคคลากรให้มีคุณภาพและเตรียมความพร้อมเข้าสู่วงจรการต่อสู้บนเวทีโลก
เวทีการแข่งขัน FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจัดติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปี นับเป็นการสร้างแรงกระตุ้นและยกระดับให้กับนักศึกษาฟู้ดซายน์รุ่นใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นอย่างดี ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยต่างๆ จะคัดเลือกตัวแทนนักศึกษาของตนเข้ามาแข่งขัน
คุณพรรณี ปาลเดชพงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “การให้โอกาสนักฟู้ดซายน์รุ่นใหม่ เป็นสิ่งสำคัญมาก การแข่งขัน FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการเรียนรู้การเตรียมความพร้อมของตนเอง และของประเทศไทยเพื่อต่อยอดทางภาคปฏิบัติ หลังจากที่ได้สัมผัสกับทีมนิสิตนักศึกษาแต่ละทีม รู้สึกได้ว่าเด็กรุ่นใหม่เต็มไปด้วยแนวคิดที่ดี มีไหวพริบปฏิภาณ และความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องสนับสนุน และอยากให้อีกหลายๆ องค์กรร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนนักฟู้ดซายน์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อการพัฒนาประเทศ”
ในปีนี้ การแข่งขันเต็มไปด้วยความเข้มข้นระหว่างทีมนักศึกษา โดยในที่สุด ทีมที่ได้ครองถ้วยรางวัลชนะเลิศ FoSTAT - Nestl? Quiz Bowl 2006 ซึ่งเป็นถ้วยเกียรติยศจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คือ ทีมนิสิตจากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้แสดงความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องตามรอยรุ่นพี่ในปีก่อน สามารถพิชิตถ้วย เป็นปีที่ 4 ทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย นายกิตติเดช ไตรอนันต์วุฒิกุล นางสาวกรรณิการ์ สุธีรารักษ์ นางสาวฐิตินาถ เลิศสุคนธรส และสุธาวัลย์ เจริญประเสริฐ
เสียงสะท้อนที่น่าสนใจจากทีมชนะเลิศเกี่ยวกับการแข่งขัน นายกิตติเดช หนึ่งในทีมจุฬา เล่าให้ฟังว่า “เป็นสิ่งที่คุ้มค่าคู่ไปกับความภาคภูมิใจ คือ การได้รู้จักเพื่อนร่วมภาควิชาจากต่างสถาบัน ผมรู้สึกว่าแต่ละทีมมีความรู้ใกล้เคียงกันมาก เพราะมีคะแนนขับเคี่ยวกันมาตลอด ฟู้ดซายน์เป็นวิชาที่มีความซับซ้อนมาก สำหรับทีมจุฬาฯ ที่มาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะมีอาจารย์ในภาควิชา ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เราเห็นความสำคัญของฟู้ดซายน์มาโดยตลอด อีกทั้งยังมีท่านอาจารย์ขนิษฐา ที่ช่วยติวให้พวกเราอย่างเต็มที่”
เห็นรอยยิ้มจนแก้มแทบปริของ นางสาวกรรณิการ์ เธอเล่าให้ฟังว่า “การแข่งขันในเวทีใหญ่ สอนให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม นอกจากวิชาความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ทีมเราค่อนข้างลงตัวและในทีมประสานกันดีค่ะ หนูได้รับมอบหมายให้เป็นมือกด เพราะต้องกดออดแข่งกับทีมอื่น ต้องส่งรับความรู้สึกถึงเพื่อนในทีมเพื่อเป็นหนึ่งเดียวในระหว่างการแข่งขัน”
อาจารย์ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส นายกสมาคม FoSTAT ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ในโลกปัจจุบันเรื่องภาษามีความจำเป็นอย่างมาก และเราควรจะเก่งรอบด้าน เพราะข้อมูลด้าน FOOD SAFETY ก็เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ FoSTAT และกลุ่มสมาชิกในระดับอาเซียน Federation of Institutes of Food Science and Technology in ASEAN (FIFSTA) มีความพยายามที่จะผลักดันให้จัดการแข่งขัน FoSTAT-Nestl? Quiz Bowl ในระดับอาเซียน โดยมีมติให้ทดลองจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในช่วงปลายปีนี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการแข่งขันต่อไป และประเมินศักยภาพความพร้อมด้านภาษาของทีมไทยด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กับ นักวิชาการ นักวิจัย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศร่วมกัน เพราะแวดวงนี้นับเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทย”
ความพยายามในการสร้างบุคลากรด้านฟู้ดซายน์ ยังคงต้องดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกคนต่างก็อยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจัง ตั้งแต่การสนับสนุนเครื่องมือที่ทันสมัย ดูแลขั้นตอนเทคโนโลยีกระบวนการผลิตอาหาร ตลอดจนขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความเจริญก้าวหน้า นอกจากการพัฒนากระบวนการผลิตแล้ว การพัฒนาองค์ความรู้ความสามารถของบุคลากรที่เกี่ยวข้องก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง การเสริมสร้างโอกาสในการแสดงออกที่ถูกต้องทางด้านวิชาการโดยเฉพาะตั้งแต่ระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นวิธีการกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลาแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสังคมโดยรวมให้แข็งแกร่งด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
กุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์ / บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทรศัพท์ 0 2651 8989 ต่อ 332 โทรสาร 0 2651 9649-50
อีเมล์ khuntira@prassociates.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net