เตรียมพร้อมเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแบบ “ชิลชิล”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 25, 2009 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ก.ล.ต. ไหน ๆ ก็อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะตั้งแต่ตอนนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายนเป็นช่วงแห่งเทศกาลการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ดิฉันเลยจะขอถือโอกาสนี้ บอกเล่าถึงคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนเข้าประชุม AGM แบบที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ชิลชิล เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคุณ ๆ ผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องการอะไรซับซ้อน เรียกว่าเป็นคำแนะนำเวอร์ชั่น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” แล้วกันนะคะ คือ ทำได้เร็ว ทำได้ง่าย ทำได้จริง รับรองค่ะว่าไม่ยุ่งยากและยังเหมาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้และเวลามากพอที่จะศึกษาเอกสารการประชุมทั้งปึก แถมยังใช้ได้ทั้งสองกรณีไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเข้าประชุมด้วยตัวเอง หรือมอบ proxy ให้คนอื่นเข้าประชุมแทน โดยขอเริ่มที่วิธีอ่านเอกสารการประชุม ลำดับแรกที่คุณควรดูคือวาระพิจารณางบการเงินค่ะ แม้หลายท่านจะไม่ได้จบบัญชีมา ดูงบการเงินไม่รู้เรื่อง ตอนนี้ไม่ต้องวอรี่แล้วค่ะ ดูไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร เราข้ามช็อตไปมองกันที่ข้อความสำคัญของงบการเงินเลยดีกว่า นั่นคือ รายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ตรงนี้ท่านผู้รู้ที่ดิฉันเคารพท่านหนึ่ง เคยให้ทริคไว้ว่า วิธีดูที่ง่ายที่สุดว่างบการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีปัญหาหรือไม่ คือพลิกไปที่หน้ารายงานของผู้สอบบัญชี แล้วกางมือของท่านตามแนวนอน เหยียดนิ้วทุกนิ้วออกไปจนสุดแล้ววางทาบลงบนหน้านั้น ถ้าข้อความในรายงานของผู้สอบบัญชีไม่ยาวเกินกว่าฝ่ามือท่าน ถือว่างบนั้น OK ค่ะ โดยข้อความที่จะช่วยเสริมตรงนี้ให้คุณอุ่นใจยิ่งขึ้น คือข้อความในย่อหน้าที่ 3 ของผู้สอบบัญชีที่ว่า “...ข้าพเจ้าเห็นว่างบการเงินข้างต้นนี้ แสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ ... ของบริษัท ... โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป...” แต่ถ้าเกิดว่าคุณใช้เทคนิคกางฝ่ามือแล้วข้อความเกิดยาวเกินฝ่ามือขึ้นมา ซึ่งในเนื้อความนั้นผู้สอบบัญชีอาจระบุว่า ไม่สามารถปฏิบัติงานหรือตรวจสอบได้ตามมาตรฐานการสอบบัญชี จึงไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินนั้น หรืออาจแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง รวมทั้งบางกรณีผู้สอบบัญชีอาจให้ความเห็นว่างบการเงินดังกล่าวถูกต้องแบบมีเงื่อนไข คือ ระบุว่ายกเว้นรายการนั้นรายการนี้ งบการเงินนี้จึงถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นอันใดอันหนึ่ง ก็ขอให้คุณเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาวาระนี้ค่ะ ถัดมา ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ของคุณ ก็คือวาระการจ่ายเงินปันผล ตรงนี้ดูง่าย ๆ ค่ะว่า บจ. ที่คุณถือหุ้นอยู่มีการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ หากไม่มีการจ่ายปันผลเนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนในรอบปีที่ผ่านมา คุณก็ควรพิจารณาเหตุผลของ บจ. ด้วยนะคะ ในกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล ให้ดูว่าการจ่ายเงินปันผลนั้นเป็นไปตามนโยบายที่ บจ. ประกาศหรือไม่ เช่นประกาศว่าจะจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ถึงเวลาก็จ่ายตามนั้น ในอัตราหุ้นละกี่บาทกี่สตางค์ก็ว่ากันไป หรือหากมีการจ่ายปันผลแต่ไม่เป็นไปตามนโยบายบริษัท เช่นนโยบายบอกว่าจะจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ แต่ถึงเวลาจะจ่ายจริงเพียงอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ โดยให้เหตุผลว่าต้องการกันเงินสำรองเพื่อขยายธุรกิจสร้างโรงงงานผลิตแห่งใหม่ ตรงนี้คุณก็ควรพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลที่ บจ. ให้ไว้ด้วยค่ะ น่าเสียดายที่มาถึงตรงนี้เนื้อที่สัมปทานหมดแล้วค่ะ ขอยกยอดไปว่ากันต่อในครั้งต่อไปกับคำแนะนำเด็ด ๆ ชิลชิล ในการเตรียมตัวเข้าประชุมผู้ถือหุ้นนะคะ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ ของฝากสำหรับผู้ถือหุ้น ในการพิจารณาวาระรับรองงบการเงินประจำปี และวาระการจ่ายเงินปันผลนั้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีแนวทางตัดสินใจออกเสียงได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเข้าประชุมด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจ (proxy) ก็ตาม ขอหยิบยกแนวทางการออกเสียง (voting guidelines) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย 2 หน่วยงาน คือ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) มาฝากกันดังนี้ วาระรับรองงบการเงินประจำปี AIMC ระบุว่า บริษัทจัดการซึ่งเป็นสมาชิก AIMC จะออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กรณีที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นในลักษณะมีเงื่อนไขในสาระสำคัญต่องบการเงิน เช่นเดียวกับ TIA ระบุว่า หากผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขหรือมีข้อสังเกตต่องบการเงิน ผู้ถือหุ้นควรตั้งคำถามให้คณะกรรมการบริษัทอธิบายอย่างชัดเจน หากคำอธิบายคลุมเครือ ไม่สมเหตุผล ควรออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” วาระการจ่ายเงินปันผล AIMC ระบุว่า บริษัทจัดการจะออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กรณีที่มีการจ่ายเงินปันผลไม่สอดคล้องกับนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ขณะที่ TIA ระบุว่า ผู้ถือหุ้นควรออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กรณีที่พบความไม่สมเหตุผล หรือความผิดปกติในการจ่ายเงินปันผล เช่น มีการงดจ่ายปันผล หรือจ่ายต่ำกว่านโยบายที่ประกาศ แต่กลับมีการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อจูงใจพิเศษแก่ผู้บริหาร เช่น ออกหุ้น ESOP (Employee Stock Options Plans) หรือมีการกู้เงินมาเพื่อจ่ายปันผล เป็นต้น “ประชุมผู้ถือหุ้น: มีสิทธิควรไปใช้ ไปไม่ได้...มอบอำนาจ”ก.ล.ต. สนับสนุนผู้ลงทุนใช้สิทธิเข้าร่วมประชุม หรือ มอบอำนาจในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2552 ติดตามว่าผู้ถือหุ้นมีสิทธิอะไร และควรใช้สิทธิอย่างไรบ้างในการประชุมผู้ถือหุ้นในรายการ “inside ก.ล.ต.” ตอน “สิทธิของผู้ถือหุ้น มีแล้วต้องใช้” วันพุธที่ 25 มี.ค. 2552 เวลา 15.30-16.00 น. ทาง ททบ. 5 และ True Visions 80

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ