กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สกว.
ครบรอบ 10 ปี สกว.เพื่อท้องถิ่น ย้ำเจตนารมณ์หนุนชาวบ้านทำงานวิจัยแบบไม่ขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหา-พัฒนาได้จริง ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิระบุงานวิจัยคือวิถีชีวิต ช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนท้องถิ่นและประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงวัตถุ ประสงค์การจัดงานสัมมนาวิชาการ 10 ปีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น “ชาวบ้านวิจัย...รากฐานใหม่ของสังคม” คุณค่า พลัง ความสุข ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค. 2552 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ ว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เริ่มต้นเมื่อปี 2541 ด้วยความคิดว่างานวิจัยน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถใช้งานวิจัยได้
แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่างานวิจัยในสมัยนั้นไม่เอื้อต่อความต้องการของชาวบ้าน จึงมีโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงงานวิจัยท้องถิ่นต้องเกิดจากชาวบ้าน ตั้งโจทย์จากชาวบ้าน ออกแบบงานวิจัย เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนปฏิบัติการตามข้อมูล ด้วยชาวบ้านอย่างแท้จริง ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น กับความรู้ที่อยู่ข้างนอก แต่ต้องผสมผสานอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และยกระดับให้คนมีความรู้ ความสามารถสูงขึ้นในทุกๆ ด้าน ซึ่งปัจจุบัน สกว.นำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้ 10 ปี เกิดงานวิจัยกว่า 1,500 เรื่อง และมีนักวิจัยท้องถิ่นมากกว่า 10,000 คน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป
ด้านศาตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่าการพัฒนาในการวิจัยถือเป็นการพัฒนาที่แท้จริงของประเทศ และที่สำคัญต้องยอมรับว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีความสำคัญมากกว่าการวิจัยทางวิชาการ นอกจากจะก่อให้เกิดพลังแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสุขได้จากงานวิจัยอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากเด็กๆ ที่มาร่วมเปิดงาน มีการตีกลองสะบัดไชย และแสดงออกอย่างสนุกสนาน ทำให้กลุ่มคนวิจัยที่มาร่วมงานพลอยได้รับความสุขและสนุกสนานไปด้วย นับได้ว่า “พลังที่แท้จริงนั้น เกิดจากพลังทางปัญญาของพวกเรานั่นเอง”
นอกจากนี้ การวิจัยในประเทศกำลังพัฒนายังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดการแข่งขันของชาติ ขณะเดียวกันยังแก้ไขปัญหาของประเทศในกระบวนการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยที่สนองความต้องการของชาติ จะมุ่งเข้าถึงและใช้ประโยชน์แหล่งความรู้โลก เช่น ปัญหาการค้า ปัญหาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็วิจัยปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ หรือเป็นการวิจัยนโยบาย ระบบ ก่อให้เกิดปฏิบัติการที่นำไปสู่การแก้ไข และก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้นการวิจัยจึงแทรกอยู่ทุกที่ เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตเลยก็ได้
ตัวอย่างของการวิจัยที่เกิดผลต่อประเทศชาติอย่างชัดเจน เช่น ปัจจุบันไทยมีประชากร 63-64 ล้านคน สามารถส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน มากกว่าในอดีตนับ 10 เท่า ทั้งนี้เพราะมีการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว มีศูนย์วิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเกิดเครือข่ายสถานีวิจัยการเกษตรตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
สำหรับความรู้ที่ใช้ในการวิจัยเพื่อท้องถิ่น นอกจากความรู้ที่ถูกพิสูจน์แล้ว ความรู้อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ความรู้ฝังลึก” ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากภูมิปัญญา หรือในตัวบุคคลที่สืบทอดกันมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังมีช่องว่างทางความรู้ ระหว่างประเทศที่ผลิตและส่งออก เช่น การค้นพบนวัตกรรม สูจิบัตร มีการผูกขาดด้านเทคโนโลยี กับประเทศที่นำเข้า/พึ่งพาความรู้ เพราะประเทศเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ความรู้ แต่เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัดอยู่แล้ว เมื่อเจียดงบประมาณไปซื้อเทคโนโลยีหรือความรู้ดังกล่าว ก็ทำให้ประเทศยากจนลง ส่งผลให้เกิดหนี้สินติดตามมา จึงต้องคิดให้ได้ว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือการทำวิจัย เนื่องจากนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อความสามารถในการแข่งขันของชาติ เป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
งานวิจัยที่ใช้ความรู้ฝังลึกจึงเกิดขึ้นผสมผสานกับความรู้ใหม่ เช่น การนำยาสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้แทนยาแอสไพริน ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่เกิดประโยชน์ในด้านการรักษาเหมือนกัน แถมยังไม่มีอันตรายข้างเคียง หรือบางพื้นที่ อย่างนาหมื่นศรี คุณยายสูงอายุก็สามารถถ่ายทอดความรู้ออกมาเป็นลวดลายในผ้าทอได้อย่างวิจิตรงดงาม
การวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงมีฐานมาจาก 3 ด้าน ได้แก่ การวิจัยที่มีวิชาการเป็นฐาน การวิจัยที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน และการวิจัยที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยถือได้ว่าการวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างพลัง ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในปัญหาของตนเอง ตระหนักถึงปัญหาของตนเอง และหาวิธีแก้ปัญหานั้น สุดท้ายก็จะทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เกิดความรู้เท่าทัน ไม่ถูกหลอก นับว่าเป็นการสร้างคน สร้างทีม สร้างภาคี หนุนให้เกิดพลังและความเป็นไท มีบทบาทในการสร้างพลังท้องถิ่น ทำให้สามารถขับเคลื่อนท้องถิ่นและประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้า.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ประชาสัมพันธ์ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น โทร.0-5394-8286-7