กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในปี 2551 การส่งออกสินค้าของไทยไปสหภาพยุโรป (EU) มีมูลค่า 23,430.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 2.6 โดยไทยนำเข้าสินค้าจาก EU เป็นมูลค่า 14,423.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ร้อยละ 11.4 หากพิจารณาดุลการค้าระหว่างไทยกับ EU พบว่า ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า EU อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 ไทยได้เปรียบดุลการค้า EU มูลค่า 9,006.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในด้านการใช้ประโยชน์จากระบบ EU-GSP พบว่า ในปี 2551 มีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิพิเศษฯ จากระบบ EU-GSP เป็นมูลค่าเกือบ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (7,612.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.1 และมีอัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate) ร้อยละ 62.95 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ สินค้าสำคัญที่ส่งออกภายใต้ระบบ EU-GSP ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กรดเทเรฟทาลิก เลนส์แว่นตา สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง น้ำมันก๊าด รองเท้า กุ้งแช่แข็งและกุ้งปรุงแต่ง ยางนอกรถบรรทุก และปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น สำหรับสินค้าบางรายการที่มีการใช้สิทธิฯ จากระบบ GSP ค่อนข้างน้อย อาทิ เครื่องปรับอากาศ (รีเวอร์ซิเบิลฮีตปั๊ม) และส่วนประกอบของตู้วิทยุหรือโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ EU เก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN rate) ในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตสินค้าดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ระบบ EU-GSP
สำหรับ การส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิ GSP นั้น พบว่า การส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2551 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรถปิกอัพ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย ขยายตัวลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 10.26 ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจของ EU และการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากไทยในช่วงปลายปี 2552 ทั้งนี้ เพื่อรอที่จะใช้ประโยชน์จากระบบ EU-GSP ในช่วงต้นปี 2552
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ EU ได้ประกาศคืนสิทธิ GSP ให้กับสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยในช่วงปี 2552 - 2554 นั้น กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากแต้มต่อนี้ เพื่อเข้าถึงและขยายสัดส่วนในตลาด EU ต่อไป ผู้สนใจขอทราบข้อมูลการส่งออกสินค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ทั้ง GSP และ FTA สามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0-2547-4819 หรือสายด่วน กรมการค้าต่างประเทศ โทร.1385 และอาจติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ www.dft.go.th