ศูนย์ GTX ท้องถิ่น หน่วยเสาะหาเด็กอัจฉริยะ

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2009 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--สสอน. “จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกประเทศที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก เปลี่ยนแปลงจากยุคการแข่งขันด้านผลผลิตทางธรรมชาติ การลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด หันมาแข่งขันทางด้านความสามารถของบุคคลในชาติ เป็นการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) และเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการสร้างบุคคลที่มีอัจฉริยภาพและมีความสามารถพิเศษ ไทยจึงจำเป็นต้องค้นหาคนเก่งพิเศษและสนับสนุนบุคคลเหล่านี้ให้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอัจฉริยภาพ เป็นบุคคลสำคัญในแต่ละสาขาอาชีพของสังคม ที่สามารถสร้างผลงาน สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม และเป็นกำลังสำคัญของชาติให้ได้ ซึ่งเราได้เริ่มดำเนินการแล้วผ่านศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ (Gifted and Talented Exploring Center: GTX)” ศูนย์จีทีเอ็กซ์ที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.) (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี หมายถึงนั้น พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) อธิบายเพิ่มเติมว่า “สสอน. จัดตั้งศูนย์นี้มากว่า 4 ปี ทำหน้าที่ในการค้นหาและพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติ โดยจนถึงปี 2550 มีศูนย์จีทีเอ็กซ์ 42 ศูนย์ ใน 21 จังหวัด และตั้งเป้าว่าภายในปี 2552 จะจัดตั้งให้แล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 19 ศูนย์ ใน 19 จังหวัด เพื่อช่วยขยายพื้นที่บริการของศูนย์จีทีเอ็กซ์เป็น 61 ศูนย์ ใน 40 จังหวัด รูปแบบการดำเนินการจะเสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษใน 8 ด้านหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬา สังคมศาสตร์และความริเริ่มสร้างสรรค์” พลเรือเอกฐนิธ กล่าวด้วยว่า ตลอด 4 ปี มีเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษที่เข้าร่วมการทดสอบตามมาตรฐานทางวิชาการในด้านต่างๆจำนวน 89,000 คน และผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเฉพาะทางและค่ายทั่วไปประมาณ 3,647 คน จากนั้นคัดกรองเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษโดดเด่นอย่างแท้จริงได้ 304 คน ซึ่งเด็กที่มีความสามารถพิเศษและมีศักยภาพโดเด่นที่ศูนย์จีทีเอ็กซ์ค้นพบจะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น เช่น การเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพในสาขาต่างๆ ของเยาวชนตามมหาวิทยาลัยชั้นนำ “กระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการค้นพบเพชรที่พร้อมจะได้รับการเจียระไนจากท้องถิ่นแล้วคือ คณะผู้บริหารโรงเรียนและครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ทุกศูนย์ ได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ องค์ความรู้เกี่ยวกับ Brain-based Learning องค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้และศูนย์ GTX ทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ องค์ความรู้และทักษะการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ บทบาทและภารกิจของครูศูนย์ GTX ซึ่งทำให้ครูมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ และสามารถจุดประกายความคิดที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษภายในศูนย์จีทีเอ็กซ์ได้” พลเรือเอกฐนิธ กล่าว ซึ่งกระบวนการเสาะหาและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษของศูนย์จีทีเอ็กซ์ ดร.ธีระภาพ เพชรมาลัยกุล หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านผู้มีความสามารถพิเศษ สสอน. เปิดเผยว่า โดยหลักจะมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การให้โอกาสเด็กและเยาวชนเข้ารับการทดสอบเพื่อคัดกรองเบื้องต้น ด้วยแบบทดสอบของ สสอน. ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ไม่ได้เน้นเฉพาะด้านวิชาการเท่านั้น แต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมิติสัมพันธ์ด้วย 2) กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศูนย์จีทีเอ็กซ์ในพื้นที่ 3) หากเด็กกลุ่มนี้ผ่านการประเมินจากศูนย์ฯ จะได้รับโอกาสในการเข้าสู่กิจกรรมพัฒนาต่อยอดศักยภาพในรูปแบบค่าย เพื่อแสดงผลงานตามสาขาอัจฉริยะ และ 4) คัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษโดดเด่นอย่างแท้จริง โดยดูจากผลงานที่นำเสนอในกิจกรรมค่าย สำหรับขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการของศูนย์จีทีเอ็กซ์นั้น เด็กที่ผ่านการทดสอบเบื้องต้นจะต้องเข้าไปที่ศูนย์ในพื้นที่ตามเวลาที่มีการกำหนด เพื่อร่วมทำกิจกรรมภายในศูนย์ ซึ่งจะมีการจัดพื้นที่ให้มีมุมอย่างน้อย 8 มุมตามสาขาอัจฉริยะ แต่ละมุมมีสื่อการเรียนรู้ทั้งที่เป็นของเล่น หนังสือและเทคโนโลยีให้เด็กได้ศึกษาตามความสนใจ สื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ที่เป็นของเล่น หนังสือและเทคโนโลยี ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถค้นคว้า เรียนรู้ตามความสนใจ และสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถฝึกหัดทำผลงานตามความสนใจและความสามารถพิเศษได้ด้วยตนเอง โดยมีครูจีทีเอ็กซ์ประจำศูนย์ ทำหน้าที่ในการสังเกตและจดบันทึกว่า เด็กมีความสนใจอยู่ที่มุมใดนานเป็นพิเศษ รวมถึง สามารถทำกิจกรรมในมุมนั้นได้ดีมากแค่ไหน และมีพัฒนาการเป็นอย่างไร ก่อนจะสรุปเบื้องต้นว่าเห็นแววอัจฉริยะของเด็กในด้านไหนและอยู่ในระดับใด จากนั้นจึงจะให้เด็กแสดงผลงานตามสาขาอัจฉริยะในกิจกรรมค่ายต่อไป ดร.ธีระภาพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อค้นพบเด็กที่มีอัจฉริยภาพ ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถร่วมพัฒนาศักยภาพของเด็กตามอัจฉริยภาพเข้ามา เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และในอนาคตจะมีการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ ซึ่งจะสามารถนำไปวางแผนการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพในแต่ละสาขาวิชาชีพได้ นางสุภัทรา ศรีระวัตร ครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ โรงเรียนอนุบาลแพร่ จังหวัดแพร่ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ การประกวดสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ของศูนย์จีทีเอ็กซ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ ที่โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนปัจจุบันย้ายมาประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ ที่โรงเรียนอนุบาลแพร่ ทำให้รู้ว่า การที่ สสอน. ตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกล เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความเป็นอัจฉริยะ แต่ตนเอง พ่อแม่ และญาติพี่น้องไม่รู้ ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง โดยมีครูประจำศูนย์ฯ อยู่ในกระบวนการช่วยเหลือ แนะนำ และชี้ช่องทางในการพัฒนาให้เด็ก โดยที่ศูนย์จีทีเอ็กซ์ที่ร.ร.ทองสวัสดิ์ฯ ซึ่งรับผิดชอบเสาะหาเด็กอัจฉริยะใน 3 อำเภอ คือ แม่สะเรียง สบเมย และแม่ลาน้อย ตลอด 3 ปีที่ตั้งศูนย์ มีเด็กและเยาวชนเข้ามาทดสอบเบื้องต้นถึงกว่า 1,200 คน และพบเด็กมีความสามารถพิเศษ 2 คน แบ่งเป็นด้านภาษาอังกฤษ 1 คน สสอน. จึงได้ส่งเสริมและให้โอกาสในการพัฒนาภาษาเบื้องต้น โดยส่งไปเข้าค่ายเยาวชนนานาชาติ “๑๐th Asia-Pacific Conference on Giftedness” ที่ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ และด้านดนตรี ประเภท เปียโน 1 คน โดยได้มีการบอกกล่าวให้ผู้ปกครองทราบเพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กให้ถูกทาง “ดิฉันเชื่อมั่นว่า ด้วยภารกิจพื้นฐานและแนวคิดการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ของ สสอน. ผนวกกับการที่ผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ศูนย์ฯ สามารถดำเนินการค้นหาและพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กไทยในท้องถิ่นได้เต็มศักยภาพมากขึ้น” นางสุภัทรากล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า จากการที่ สสอน. จัดตั้งศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ขึ้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันทั่วประเทศมีกว่า 40 ศูนย์ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และ สพฐ. พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และงานด้านวิชาการ เพื่อให้ครูในศูนย์ฯ สามารถนำไปใช้พัฒนาและส่งต่อเด็กได้อย่างถูกทางมากขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคต สพฐ. จะคัดสรรผลงานของศูนย์จีทีเอ็กซ์ที่โดดเด่นมาจัดแสดงเป็นแบบอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และเพื่อจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ภายในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายเครือข่ายการค้นหาเด็กอัจฉริยะให้มากขึ้น” “การจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์เพื่อค้นหาเด็กไทยที่มีแววอัจฉริยะในด้านต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติในอนาคต เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีระบบการค้นหาเด็กอัจฉริยะ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการพัฒนาอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จนทำให้ความเป็นอัจฉริยะนั้นสูญหายไปอย่างไม่เกิดประโยชน์ แต่หากศูนย์จีทีเอ็กซ์สามารถค้นหาเด็กอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เด็กเหล่านี้อายุน้อย ก็จะส่งผลให้แด็กได้รับการส่งเสริมและพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ และในอนาคตก็จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ กระบวนการนี้เหมือนการค้นพบเพชร และเป็นการนำพาพลอยอีกจำนวนมากให้อยู่รอดได้ด้วยครับ” นายวินัย กล่าว เช่นเดียวกับ นายศรีพงศ์ บุตรงามดี ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กล่าวว่า ด้วยศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความเป็นอิสระ มีงบประมาณจำนวนมาก และมีบุคลากรที่พร้อมจะทำงาน จึงเชื่อได้ว่าหากมีศูนย์จีทีเอ็กซ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อปท. ทาง อปท. แต่ละแห่งก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ในทุกด้านหากได้รับการร้องขอ ซึ่งจะช่วยให้ศูนย์ฯ เดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม เพราะทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่า หากเด็กที่มีความเป็นอัจฉริยะในด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกทาง ความเป็นอัจฉริยะก็จะหายไป แต่หากมีการต่อยอดให้ได้รู้ตัวเองและพัฒนาอย่างถูกทางก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณอาภาภรณ์ กิจศิริ 085-5699689 และคุณวันนิษา โพธิ์ศรี 089-8995154

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ