กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) เปิดเผยว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย โดยสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสวิตเซอร์แลนด์จะยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าร้อยละ 50-75 ของอัตราภาษีปกติ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสินค้ากลุ่มดังกล่าวภายในประเทศ
สำหรับในปี 2551 ไทยกับสวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม5,925.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าส่งออก 1,977.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่านำเข้า 3,947.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามูลค่า 1,969.930 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ ส่วนประกอบของอากาศยาน ส่วนประกอบของนาฬิกา และ อัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น
ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในปี 2551 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) ไปสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 9,632 ฉบับ มีมูลค่า 315.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.95 ของมูลค่าการส่งออกรวม รายการสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูงได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวสาร หน้าปัดนาฬิกา และตัวเรือนนาฬิกา เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกแต่ไม่ได้ใช้สิทธิหรือใช้สิทธิน้อย ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกหรือวัตถุอื่นๆ สายนาฬิกา/ส่วนประกอบของนาฬิกา กล่องพลาสติกหุ้มด้วยผ้าทอ และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิฯ GSP สำหรับสินค้าเพชรพลอย/ส่วนประกอบทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ได้ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ GSP จากภาษีนำเข้าปกติ (MFN) ซึ่งสูงถึง 3,999 Fr./100 kg. gross นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มหัตถกรรมงานฝีมือ (Handicraft) เช่น กล่องใส่เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ฝังมุก กระเป๋าที่คลุมด้วยผ้าทอ ก็เป็นสินค้าที่ได้สิทธิฯ GSP และมีศักยภาพและมูลค่าเพิ่มในตลาดสวิตเซอร์แลนด์สูง แต่ยังมีการใช้สิทธิฯ GSP เพื่อส่งออกไม่มากนัก
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือ http://www.dft.go.th หรือที่ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474771-86 ต่อ 4755 โทรสาร 02-5474816 หรือ e-mail: tpdft@mocnet.moc.go.th