กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2552 โดยได้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประเภทธุรกิจท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ บัญชี ก บัญชี ข และบัญชี ค จะต้องแจ้งให้ทราบ ขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ส่วนผู้ที่ให้บริการดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้และประสงค์จะให้บริการต่อไป จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มีนาคม 2552 มิฉะนั้นหากพ้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ผู้ประกอบการจะไม่สามารถให้บริการได้อีก
“หลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวในวันที่ 16 มีนาคม 2552 คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับแจ้งในที่ประชุมว่า มีผู้ให้บริการที่เข้าข่ายการควบคุมดูแลที่ได้ยื่นแบบแจ้งให้ทราบ ขอขึ้นทะเบียน และขอรับใบอนุญาต รวมจำนวนทั้งสิ้น 76 ราย แบ่งเป็นการขอขึ้นทะเบียน 8 ราย และขอรับใบอนุญาต 70 ราย ซึ่งมีผู้ให้บริการบางรายประกอบธุรกิจมากกว่า 1 ประเภท ส่วนผู้ให้บริการตามบัญชี ก ที่ต้องยื่นแบบแจ้งให้ทราบไม่มี” นายสือ กล่าว
สำหรับสรุปจำนวนใบรับขึ้นทะเบียน และใบอนุญาตแยกตามประเภทธุรกิจนั้น มีผู้ให้บริการตามบัญชี ข ที่ยื่นแบบขอใบรับขึ้นทะเบียนจำนวน 8 ราย แบ่งเป็นประเภทธุรกิจสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินระบบเดียว 1 ฉบับ และประเภทธุรกิจ e-Money ที่ใช้ซื้อสินค้าและ/หรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย ณ สถานที่ที่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน 7 ฉบับ
ขณะที่ผู้ให้บริการตามบัญชี ค ที่ยื่นแบบขอรับใบอนุญาตจำนวน 70 รายนั้น แบ่งเป็นประเภทธุรกิจการให้บริการหักบัญชี 4 ฉบับ การให้บริการชำระดุล 4 ฉบับ การให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์หรือผ่านทางเครือข่าย 58 ฉบับ การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินหลายระบบ 3 ฉบับ การให้บริการรับชำระเงินแทน 29 ฉบับ และประเภทธุรกิจ e-Money ที่ใช้ซื้อสินค้าและ/หรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน 11 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 109 ฉบับ
ส่วนการดำเนินการภายหลังจากที่ผู้ให้บริการได้ยื่นแบบขอรับใบรับแจ้ง หรือใบรับการขึ้นทะเบียนนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการฯ มอบหมายจะออกใบรับแจ้ง และใบรับการขึ้นทะเบียนให้เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน ขณะที่การขอรับใบอนุญาตนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของเอกสาร แล้วเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พิจารณาเพื่อออกใบอนุญาต
“ในเบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อมูลและสรุปผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการธุรกรรมฯ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจในบัญชี ค จำนวน 15 ราย รวมขอรับใบอนุญาต 30 ฉบับ โดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1.ลักษณะและรูปแบบการให้บริการ 2.คุณสมบัติของนิติบุคคลที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 3.รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และ 4.เงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมตามประเภทธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมฯ ได้พิจารณา และออกใบอนุญาตให้ทั้ง 15 รายแล้ว ส่วนผู้ให้บริการรายอื่นที่ยื่นขอรับใบอนุญาตไว้ คณะกรรมการธุรกรรมฯ จะดำเนินการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตให้อย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้ง 70 รายภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 นี้แน่นอน” นายสือ กล่าว
สำหรับผู้ให้บริการที่ผ่านการพิจารณาออกใบอนุญาตให้แล้ว ได้แก่ ผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน 7 ราย คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารไทยพาณิชย์นฯ ธนาคารเมกะสากลพาณิชย์ฯ ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารกสิกรไทยฯ ธนาคารกรุงเทพฯ และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน 8 ราย คือ บจ.เคาน์เตอร์ เซอร์วิส บจ.ศูนย์ประมวลผล บจ.ไทย สมาร์ทคาร์ด บจ.แอดวานซ์ เอ็มเปย์ บจ.แอดวานซ์ เมจิค การ์ด บจ.เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ บจ.สรรพสินค้า เซ็นทรัล และบจ. เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 568 2453 ทวิติยา