กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ซีพีเอฟ
นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินกิจกรรม “ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ไข่ให้แก่ครู” เป็นการสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนให้ยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
“ครู...ถือเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน สามารถขยายผลและติดตามโครงการได้อย่างใกล้ชิด เมื่อโรงเรียนใดแสดงความจำนงในการเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จะต้องส่งครูเข้าอบรมอย่างน้อย 3-5 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้ควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่ ครูผู้ดูแลอาหารกลางวันนักเรียน ครูผู้ดูแลสหกรณ์ และครูที่จะเชื่อมโยงผลผลิตสู่ชุมชน เพื่อให้ครอบคลุมองค์ประกอบตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างครบถ้วน ซึ่งจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่เด็กนักเรียนและชุมชน”
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนตามท้องถิ่นทุรกันดารแล้ว 278 แห่ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างโภชนาการที่ดีให้เด็กไทยควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้วิชาชีพเกษตรกรให้เด็กได้มีอาชีพติดตัวต่อไปในอนาคต ปัจจุบันมีโรงเรียนสนใจขอเข้าคัดเลือกเพื่อร่วมโครงการอีกกว่า 300 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด ตชด. 10 แห่ง โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 255 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดอาชีวศึกษา 30 แห่ง ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนของซีพีเอฟแล้ว ครูของแต่ละโรงเรียนต้องเข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้ของโครงการอย่างครบถ้วนก่อนที่จะเริ่มโครงการจริง
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ครูและโรงเรียนหลายแห่ง ให้ความใส่ใจในการแก้ปัญหาโภชนาการของเด็ก และแจ้งความประสงค์เข้ามามากขนาดนี้ จากเดิมที่ซีพีเอฟตั้งเป้าขยายโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในปีนี้ไว้ที่ 80 แห่ง จึงน่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายสุปรีกล่าว
ด้านนายพินิจ จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนใดได้เข้าร่วมดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ความขาดแคลนอาหารมื้อกลางวันของเด็กๆก็หมดไป ภาวะทุพโภชนาการก็แทบจะหมดไปด้วย โรงเรียนอาชีวะที่เข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถดำเนินโครงการได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องของบประมาณจากภาครัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงถือเป็นโครงการที่ยั่งยืนและน่าสนับสนุน ขณะเดียวกันยังมีผลพลอยได้ที่ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง สามารถนำองค์ความรู้ต้นแบบจากโครงการในโรงเรียนไปประกอบเป็นอาชีพ จนประสบความสำเร็จแล้วหลายราย โดยในปีนี้มีโรงเรียนในสังกัดอาชีวศึกษาได้รับงบประมาณดำเนินโครงการจำนวน 30 แห่ง ซึ่งทางซีพีเอฟได้ทยอยอบรมให้ความรู้แก่ครูในส่วนของอาชีวะทั่วประเทศทุกภูมิภาคแล้ว ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยในภาคใต้จะทำการอบรมในเร็วๆนี้ และทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการเลี้ยงไก่ในโครงการฯได้ ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ CPF
โทร. 02-625-7344-5, 02-638-2713, 02-631-0641