ตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุนธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม เพิ่มมาตรฐานบรรษัทภิบาล

ข่าวทั่วไป Monday June 26, 2006 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์สกว. สถาบันไทยพัฒน์ และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมจัดสัมมนาส่งเสริมกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ เชิญตัวแทนองค์กรธุรกิจเปิดเผยถึงคุณประโยชน์ของซีเอสอาร์ ในการสร้างมูลค่าแก่ธุรกิจทั้งในรูปตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน พร้อมสนับสนุนซีเอสอาร์ต่อเนื่อง หวังต่อยอดบรรษัทภิบาลในภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจด้วยซีเอสอาร์” (Creating Sustainable Business through CSR) ใน วันนี้ (23 มิ.ย.) ว่า การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) นับเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) โดยแสดงให้เห็นถึงความความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ในปีนี้ CG Center จึงสนับสนุนให้บริษัท จดทะเบียนกำหนดนโยบายในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน โดยศูนย์ฯ จะจัดกิจกรรมให้ความรู้และให้แนวทางแก่บริษัทจดทะเบียน ในการดำเนินกิจกรรมด้านซีเอสอาร์ นอกจากนี้ ยังจะยกย่องบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้านซีเอสอาร์โดยให้รางวัลในงาน SET Awards ในปีนี้ด้วย
“การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมมีประโยชน์ต่อบริษัทในหลายด้าน เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ ผู้มีส่วนได้เสีย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจ หรือความเสี่ยงจากการที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดทุนไทยให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้ลงทุนต่างประเทศที่นำปัจจัยด้าน CG และ CSR เข้ามาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย” นางสาวโสภาวดีกล่าว
รศ. สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาซีเอสอาร์ใน กระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ และส่งเสริมให้ดำเนิน กิจกรรมซีเอสอาร์จากจิตสำนึกโดยความสมัครใจ กล่าวว่า องค์กรธุรกิจหลายแห่งเข้าใจว่า กิจกรรมด้านซีเอสอาร์ ถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจ่ายเพิ่ม โดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่จึงมักจะดำเนินกิจกรรมทางซีเอสอาร์ก็ต่อเมื่อถึงคราวที่จำเป็นจริงๆ หรือเห็นถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับเท่านั้น
“ผลการวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ของกิจกรรมทางซีเอสอาร์กับผลประโยชน์ที่องค์กรได้รับ พบว่า การออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้องค์กรธุรกิจได้รับประโยชน์ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรม อาทิ การมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง การเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มมากขึ้น พนักงานมีความภักดีต่อองค์กร ภาพลักษณ์ขององค์กร และการยอมรับในตราผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ดังนั้น การผนวกแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เข้าไปกับการดำเนินธุรกิจ จะพัฒนาให้กิจการนั้นๆ เป็นองค์กรที่ “ดี” และ “เก่ง” ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้ด้วยความยั่งยืน”รศ. สุชาตากล่าว
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงและความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม เปิดเผยว่า กิจกรรมซีเอสอาร์มิได้สิ้นสุดที่การบริจาคเงินหรือสิ่งของแก่หน่วยงานสังคมสงเคราะห์หรือมูลนิธิ ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะใช้หรือถ่ายทอดความ “เก่ง” ในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม นอกเหนือจากเพียงมอบเงินหรือสิ่งของด้วย
“วิธีการพัฒนาซีเอสอาร์ในองค์กรให้ประสบผลสำเร็จ เปรียบได้กับแนวทาง “คิดแบบเด็ก ทำแบบวัยรุ่น และพูดแบบผู้ใหญ่” เนื่องจากเป็นงานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และความจริงใจ อาศัยความมุ่งมั่นและพละกำลัง ขณะเดียวกัน ต้องสื่อสารกับคนในองค์กร และสังคมภายนอก ซึ่งเป็นบทบาทที่ต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง ถ่ายทอดข้อมูลให้แม่นยำ และทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกแก่องค์กร” นายพิพัฒน์กล่าว
งานสัมมนา “การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจด้วยซีเอสอาร์” (Creating Sustainable Business through CSR) ร่วมจัดโดยตลาดหลักทรัพย์สกว. สถาบันไทยพัฒน์ และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรที่สถาบันไทยพัฒน์เข้าไปศึกษาการพัฒนาซีเอสอาร์ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจระยะที่ 1 ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ในงาน ได้แก่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด บริษัท พานาโซนิค อีเล็คทริค เวิร์คส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทเนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี กรุณาติดต่อ CG Center ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โทร. 0 2229 2603-4 หรือ SET Call Center โทร. 0 2229 2222
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ