สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ครั้งที่1/2552

ข่าวทั่วไป Friday March 27, 2009 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแถลงว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นเลขานุการ โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 และมีประเด็นการพิจารณาสรุปได้ดังนี้ 1. เห็นชอบแนวนโยบายการจัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนร่วมกับภาครัฐในรูปแบบ PPPs ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ โดยจัดโครงการลงทุนของภาครัฐออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการลงทุนในเชิงพาณิชย์ (First Tier) เป็นโครงการที่มีความพร้อมและเอกชนสนใจร่วมลงทุน รวมทั้งประชาชนมีส่วนในการจ่ายค่าบริการ เช่น โครงการลงทุนในสาขาพลังงาน โทรคมนาคม ขนส่งทางอากาศ และขนส่งทางน้ำ กลุ่มที่ 2 โครงการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจ (Second Tier) ซึ่งมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม (EIRR) สูง แต่ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ต่ำ และผู้ใช้บริการสามารถร่วมรับภาระค่าบริการได้ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการลงทุนด้วย เช่น โครงการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) ขนส่งระบบราง ขนส่งทางถนน และที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ 3 โครงการลงทุนในสาขาสังคม (Third Tier) เป็นโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม (EIRR) สูง แต่ไม่มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) และไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ ภาครัฐจึงมีภาระผูกพันจ่ายคืนการลงทุนแก่เอกชนเป็นรายปี เช่น โครงการลงทุนในสาธารณสุข ทรัพยากรน้ำ และการศึกษา เป็นต้น 2. จากแผนการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐปี 2552 -2555 วงเงินรวม 1.73 ล้านล้านบาท ฝ่ายเลขานุการได้พิจารณาโครงการลงทุนของภาครัฐทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวและเสนอว่า มีโครงการลงทุนของภาครัฐที่มีศักยภาพสามารถดำเนินโครงการในรูปแบบ PPPs เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการได้เพิ่มขึ้น โดยมีโครงการลงทุนที่สามารถดำเนินการในรูปแบบ PPPs ได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 18 ของแผนการลงทุนที่กล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้ฝ่ายเลขานุการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาแผนการลงทุนของโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2 : SP II) (2553-2555) ซึ่ง สศช. จะนำเสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณา ในวันที่ 25 มีนาคม 2552 เพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนการระดมทุนในรูปแบบ PPPs ให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนดังกล่าว และนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง 3. เห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติงานและสามารถดำเนินโครงการ PPPs ตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุด จัดทำแนวทางการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาแนวทางในการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือยกร่างกฎหมาย PPPs ใหม่ เพื่อให้มีกฎหมายกำกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs เป็นการเฉพาะในระยะต่อไป 4 เพื่อให้การดำเนินโครงการในรูปแบบ PPPs มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการฯได้เห็นชอบให้จัดทำโครงการนำร่องในรูปแบบ PPPs โดยในระยะแรกควรเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศในด้านการลด Logistic Cost พร้อมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อจัดเตรียม ความพร้อมโครงการนำร่องเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนากรอบการลงทุนในเชิงพาณิชย์ (Commercial Framework) การประเมินความสนใจเบื้องต้นของ นักลงทุน (Market Sounding) ในการร่วมลงทุนในโครงการ นำร่อง และเสนอแนะรูปแบบการดำเนินโครงการ PPPs ที่เหมาะสมสำหรับโครงการนำร่องต่อไป สบน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ขอเรียนว่า จะได้เร่งดำเนินการประสานงานกับ สศช. เกี่ยวกับแผนการลงทุนของโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP II) เพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนการระดมทุนในรูปแบบ PPPs และนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในโอกาสแรก และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชน เข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ให้แล้วเสร็จและนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบระยะเวลา 60 วัน ตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย สำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร 0 2265 8050 ต่อ 5711

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ