ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 27, 2009 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็น ‘B+’ จาก ‘BB-’ (BB ลบ) ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Issuer Default Rating) ของธนาคารที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Ratings) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’ การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกอง ทุนชั้นที่ 1 เป็นผลมาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการประกาศงดจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เนื่องจากธนาคารอาจมีผลการดำเนินงานขาดทุนในปี 2552 จากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในปี 2552 และ 2553 ของธนาคารคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง โดยฟิทช์ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยว่าจะหดตัวลง 3.8% ในปีนี้ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะต้องจ่ายจากกำไรหรือกำไรสะสมของธนาคาร แต่หากธนาคารพาณิชย์มีผลการดำเนินงานขาดทุน การจ่ายดอกเบี้ยจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณีไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เช่น ฐานะเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร และระดับกำไรสะสม เป็นต้น แม้ว่าเงินกองทุนของ TMB ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นหลังจากที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนในการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ING Bank NV (ING) เมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและ TMB ยังคงมีผลขาดทุนสะสมอยู่ในระดับที่สูงถึง 103.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 แม้ว่าในไตรมาส 4 ปี 2551 TMB จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวนมากถึง 4 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากนโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผลประกอบการปี 2551 TMB ยังคงมีกำไรสุทธิแม้จะอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.5 พันล้านบาท ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ TMB ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.6% ในปี 2551 จาก 2.4% ในปี 2550 ซึ่งยังจัดอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น TMB มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอีก 8.7% จากปี 2550 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึง 73.6% เนื่องจาก TMB ยังคงมีผลขาดทุนเพิ่มเติมจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และการตั้งสำรองจำนวน 0.9 พันล้านบาท สำหรับแผนการปรับโครงสร้างด้านบุคลากร (Early Retirement) สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TMB ลดลงในปี 2551 มาอยู่ที่ 70.6 พันล้านบาท จาก 78 พันล้านบาท โดยส่วนมากเป็นผลจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 16.6% ของสินเชื่อรวม จากการที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจเพิ่มขึ้นในปี 2552 ส่งผลให้ TMB อาจต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมจากระดับ 45.9 พันล้านบาท หรืออัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจลดลงจากระดับ 65.1% ณ สิ้นปี 2551 TMB มีแผนที่จะเร่งขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมอีกในสองปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะส่งผลให้ TMB มีการขาดทุนเพิ่มเติมจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของ TMB ที่ 10.1% และ 13.9% ตามลำดับ น่าจะช่วยให้ TMB สามารถรองรับผลขาดทุนเพิ่มเติมได้ในระดับหนึ่ง หากมีความจำเป็น โดยตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ TMB คิดเป็น 15% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคาร สภาพคล่องของ TMB อยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่น แต่ TMB มีฐานลูกค้าเงินฝากที่อ่อนแอกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง TMB เป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 6 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวม 601.9 พันล้านบาท (17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ปัจจุบัน ING เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในสัดส่วน 30% ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 26% และ DBS Bank 7% ING เป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 2 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีสินทรัพย์รวม 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคนี้ในประเทศอินเดียและจีน TMB มีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากค่อนข้างใหญ่ที่ 7% ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ ING หากมีความจำเป็น ติดต่อ Vincent Milton, พชร ศรายุทธ กรุงเทพฯ +662 655 4759/4761

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ