พฤติกรรมการใช้จ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2009 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,047 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2552 เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ซึ่งผลการสำรวจเป็นดังนี้ 1. พฤติกรรมหลังจากการได้รับเช็คเงินสด 2,000 บาท จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมหลังจากการได้รับเช็คเงินสด 2,000 บาท พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.73 จะทำการใช้จ่ายเต็มจำนวนเงิน 2,000 บาท กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.94 จะทำการใช้จ่ายบางส่วน และเก็บออมบางส่วน และร้อยละ 10.33 จะเก็บออมทั้งหมดไม่ทำการใช้จ่ายเลย ซึ่งในแต่ละกลุ่มตัวอย่างจะให้เหตุผลดังนี้ 1.1 กลุ่มที่ใช้จ่ายเต็มจำนวนเงิน 2,000 บาท ให้เหตุผลของการใช้ว่า จำเป็นที่จะต้องใช้เป็นอันดับแรก รองลงมาคือเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ ตามลำดับ 1.2 กลุ่มที่ใช้จ่ายบางส่วน และเก็บออมบางส่วน ให้เหตุผลว่า จะทำการทยอยใช้จ่าย และจะใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เพื่อสนองนโยบายของรัฐ ตามลำดับ 1.3 เก็บออมทั้งหมดไม่ทำการใช้จ่ายเลย เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น ควรมีการเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การเก็บเป็นของที่ระลึก เพราะคาดว่าจะไม่มีการจ่ายเช็คช่วยชาติเช่นนี้อีก ตามลำดับ หากพิจารณาแยกตามภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาคจะมีการใช้เงินบางส่วน และเก็บเงินบางส่วนมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแจกเช็ค 2,000 บาทนั้น จะมีเงินบางส่วนที่จะถูกเก็บออมไม่ได้มีการใช้จ่าย ตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากพิจารณาในกลุ่มรายได้ พบว่า กลุ่มที่จะมีการเก็บออมมากที่สุด คือกลุ่มที่มีระดับรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาท ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ประกอบกับตนเองยังคงไม่แน่ใจในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงาน ทำให้เห็นว่าจะต้องมีการเก็บออมเอาไว้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด เพื่อที่จะใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น 2. พฤติกรรมการใช้เช็ค 2,000 บาท จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เช็คเงินสด 2,000 บาท พบว่า ร้อยละ 80.69 จะทำการแลกเป็นเงินสดทันที ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า กลัวหาย ต้องการเก็บไว้ใช้นานๆ ต้องการออมทันที และสะดวกในการซื้อของมากกว่าเป็นเช็ค ตามลำดับ รองลงมาคือ ร้อยละ 11.29 จะทำการซื้อสินค้าให้เหลือเงินทอนเพื่อไปซื้อของอย่างอื่น หรือออม ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างต้องการเก็บออมเพื่อใช้ในยามจำเป็น รองลงมาก็เป็นการสนองนโยบายของรัฐในการใช้จ่าย ตามลำดับ และร้อยละ 8.01 ใช้เช็คดังกล่าวซื้อสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การใช้เช็คดังกล่าวจะได้ส่วนลด เป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่ สามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเช็คได้ ซึ่งไม่ว่าจะทำการแยกพิจารณาตามภูมิภาค หรือระดับรายได้แล้ว พฤติกรรมการใช้เช็ค 2,000 บาท ส่วนใหญ่จะทำการแลกเป็นเงินสดทันที มากที่สุด และเมื่อพิจารณาการใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่างแล้ว พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 92.49 จะทำการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น (สบู่ ยาสีฟัน อาหาร เป็นต้น) รองลงมาคือ ร้อยละ 54.49 จะซื้อเสื้อผ้า และร้อยละ 32.85 ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ 3. ระยะเวลาในการใช้เช็ค จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ตัวอย่าง เกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้เช็ค พบว่า ร้อยละ 40.2 จะทำการใช้เช็คบางส่วนทันที ที่เหลือเก็บออม ร้อยละ 21.8 จะทำการใช้จ่ายหมดทันทีเมื่อได้รับเช็ค ร้อยละ 14.2 จะเก็บไว้ใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร้อยละ 12.4 จะใช้ก็ต่อเมื่อยามฉุกเฉินเท่านั้น ตามลำดับ หากพิจารณาแยกตามภูมิภาคแล้วจะพบว่า บางภูมิภาคจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์รองลงมาจากกลุ่มคนที่ใช้ทันทีบางส่วน ที่เหลือเก็บออม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และหากพิจารณาแยกตามระดับรายได้แล้วจะพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาทนั้น ร้อยละ 48.5 จะมีการใช้ทันทีบางส่วน ที่เหลือจะเก็บออม รองลงมาคือ ร้อยละ 18.8 จะทำการใช้ยามฉุกเฉิน/ยามจำเป็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาท จะมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากที่สุด ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ 12,501-15,000 บาท พบว่า ร้อยละ 38.4 จะใช้จ่ายทันทีและที่เหลือเก็บออม รองลงมาคือ ร้อยละ 28.0 จะเก็บไว้ใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น 4. สถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ทำการแลกเป็นเงินสด แต่จะใช้เช็คในการซื้อสินค้า จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ทำการแลกเงินสด แต่จะใช้เช็คในการซื้อสินค้า พบว่า ร้อยละ 38.25 จะไปใช้ในร้านค้าทั่วไปที่รับเช็ค ร้อยละ 33.92 จะใช้ที่ห้างสรรพสินค้าที่รับเช็ค ร้อยละ 15.44 จะซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 8.55 จะทำการซื้อที่ร้านค้าที่ให้มูลค่าสูงกว่าเช็ค และร้อยละ 3.83 จะทำการซื้อยังสถานที่อื่นๆ ตามลำดับ 5. พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.28 จะทำการใช้จ่ายน้อยกว่ามูลค่าเช็คที่ได้รับ ร้อยละ 40.57 จะทำการใช้จ่ายเท่ากับมูลค่าเช็คที่ได้รับ และร้อยละ 18.14 จะทำการใช้จ่ายเงินเท่ากับมูลค่าเช็ค รวมกับเงินส่วนตัวอีกส่วนหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 1,981.98 บาท เมื่อพิจารณาแยกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างจะมีการใช้จ่ายน้อยกว่ามูลค่าเช็คที่ได้รับมากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นั้นจะใช้จ่ายเท่ากับมูลค่าเช็คที่ได้รับ และเมื่อพิจารณาแยกตามระดับรายได้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท จะใช้จ่ายน้อกว่ามูลค่าเช็คที่ได้รับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ตั้งแต่ 10,001-15,000 บาท จะทำการใช้จ่ายเท่ากับมูลค่าเช็คที่ได้รับ นอกจากนี้แล้วกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ระหว่าง 12,501-15,000 บาท จะทำการใช้จ่ายเท่ากับมูลค่าเช็ครวมกับเงินส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง 6. ประเมินสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเช็ค จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเช็ค พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.73 จะมีการใช้จ่ายเงิน 2,000 บาทเต็มจำนวน ร้อยละ 25.47 จะทำการใช้จ่ายประมาณ 75%-99% ร้อยละ 20.16 จะทำการใช้จ่าย 50%-74% ร้อยละ 11.31 จะทำการใช้จ่าย 1%-50% และร้อยละ 10.33 จะไม่ทำการใช้จ่ายเงิน 2,000 บาทที่ได้มากเลยคือจะทำการเก็บออมทั้งหมด และเมื่อพิจารณาวงเงินการใช้จ่ายโดยรวมแล้วจะพบว่า กลุ่มตัวอย่างจะทำการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,546.77 บาท 7. ประเมินสถานผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลสำรวจจากหอการค้าโพลล์ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1,546.77 บาท คิดเป็น 75%ของวงเงินที่ได้รับเช็ค 2,000 บาท ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่าจะมีวงเงินแพร่สะพัดในรอบแรก(ภายใน 15 วันจนถึงช่วงสงกรานต์) ประมาณ 15,000 — 17,000 ล้านบาท ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่าการใช้เงินจากเช็ค 2,000 บาท จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3 รอบ ส่งผลให้เงินการหมุนเวียนของเงินทั้งระบบ 45,000-60,000 ล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นจากระดับที่ไม่มีมาตรการนี้ร้อยละ 0.3-0.5 และคาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นจากระดับไม่มีมาตรการนี้ ร้อยละ 1.5-2.0

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ