รองเลขาฯ สพฐ.ปลื้มเยาวชนจิตอาสาในรพ. แนะป.1-ม.6ต้องมีเวลาให้เด็กทำดี 165 ชม.

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2009 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล รองเลขาฯ สพฐ.ปลื้ม โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสา ใน ร.พ. เผยเป็นรูปธรรมของกระบวนการสร้างเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ยกเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ในขณะที่ รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล ชี้การพัฒนาให้เยาวชนมีจิตอาสา ให้บรรลุผลสำเร็จต้องให้ความสำคัญกับการกระบวนการเรียนรู้ และพี่เลี้ยงที่ดีทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก ด้านมูลนิธิสยามกัมมาจลเดินหน้าหนุนโรงเรียนนำร่อง และเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายให้เข้มแข็งต่อไป นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายและแนวทางในการพัฒนากิจกรรมจิตอาสาของนักเรียนในสถานศึกษา ในงาน “พลังเยาวชนจิตอาสา “สร้างสุข” สานสัมพันธ์จากสถานศึกษาสู่โรงพยาบาล” ซึ่งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักเรียนแกนนำเยาวชนในสถานศึกษา 4 แห่ง หลังจากปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 3 เดือนใน “โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสา” ดำเนินการโดยมูลนิธิกระจกเงา ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ว่า ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะเริ่มใช้ในปี 2552 นั้น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ทั่วไปที่อยากเห็นเด็กในอนาคต มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย สิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะ ที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีความสุข ฉะนั้นหลักสูตรใหม่ของ สพฐ. จึงได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต่อไปสถานศึกษาจะต้องมีชั่วโมงให้เด็กทำกิจกรรมสาธารณะ รวม 165 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นระดับ ดังนี้ ป.1 - ป.6 60 ชั่วโมง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 45 ชั่วโมง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 60 ชั่วโมง โดยหวังว่านักเรียนจะได้ซึมซับสิ่งดีๆ จากกิจกรรมที่ทำ และเป็นนิสัยติดตัวไปจนโต ซึ่งหากสังคมมีคนที่มีจิตสาธารณะมาก ๆ คนในสังคมมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทางด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสา” เป็นกระบวนการทดลองสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ให้เข้ามาสู่วงการศึกษาไทยซึ่งที่ผ่านมาการเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนมักจะได้รับก็คือการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยการนำนักเรียนแกนนำเยาวชนจิตอาสา ไปทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยทหารที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และดูแลผู้ป่วยเด็กสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ให้เด็กได้เรียนรู้จากสภาพของจริง ชีวิตจริง กระทั่งเด็กเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากภายในเพราะได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจ เป็นการฝึกจิตให้บริสุทธิ์ อ่อนโยน ไม่เห็นแก่ตัว “การเรียนรู้จากชีวิตจริงแบบนี้เด็กๆ จะสนุกกับการเรียนรู้ และถ้าการเรียนรู้ในชีวิตจริงมีพี่เลี้ยงที่ดีคอยกระตุ้น คอยตั้งคำถาม ให้คิด ให้วิเคราะห์ จากสิ่งที่เราได้สัมผัสคิดลงไปให้เชื่อมโยงให้ลึก จะเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องท่อง แต่ผู้เรียนสามารถจดจำไปตลอดชีวิต ต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียนสอบเสร็จก็ลืมหมด ดังนั้นหากสถาบันการศึกษาจะนำกระบวนการพัฒนาเยาวชนจิตอาสาไปใช้ให้สำเร็จนั้น จะต้องมีการบริหารจัดการให้เป็นระบบ และสิ่งสำคัญ คือ พี่เลี้ยงที่มีทักษะในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึกภายในจิตใจ กระตุ้นความเป็นมนุษย์ข้างใน เพราะว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เรามันไม่ใช่แค่เรียนรู้วิชา ถ้าปลูกฝังความรู้ในห้องเรียนมากๆ เน้นแต่วิชาการ คนจะแข็งกระด้าง เห็นแก่ตัว บ้านเมืองจะยากลำบาก แต่กระบวนการจิตอาสา ทำให้คนมีใจที่ดีต่อกัน คนที่รับก็รู้ว่าตนเองไม่รู้สึกทอดทิ้ง เป็นการสร้างสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน” ศ.นพ. วิจารณ์ กล่าว ด้านนายณัฐกิจ บัวขม ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาคม กล่าวถึงกรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนสันติราษฏร์วิทยาคม เข้าร่วมเป็นแกนนำเยาวชนจิตอาสาไปทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ว่า ตนในฐานะผู้บริหารรู้สึกปลื้มใจกับกิจกรรมของนักเรียน ยิ่งเมื่อได้ทราบจากนักเรียนว่า เมื่อทำกิจกรรมแล้วทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้มีโอกาสมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ได้กลับตัวมาเป็นคนดีของพ่อแม่ และครู สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารต้องคิดว่าจะต้องต่อยอดกิจกรรมของโรงเรียนเพื่อรองรับเยาวชนจิตอาสา และจะต้องขยายผลเยาวชนจิตอาสาให้นักเรียนทั้ง 2,000 กว่าคนในโรงเรียนให้เร็วที่สุด ซึ่งนอกจากเยาวชนจิตอาสาในโรงพยาบาลแล้วจะต้องมีเยาวชนจิตอาสาในด้านอื่นๆอย่างครบถ้วนด้วยเช่นกัน คุณทรงศิริ นิลจุลละกะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เลขานุการโครงการจิตอาสา ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากการที่เยาวชนจิตอาสาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล ทำให้ผู้มารับบริการส่วนใหญ่มีความสุขมากขึ้น เด็กบางคนจะเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่พี่ๆ จิตอาสาจะมาอีก เพราะการทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครของเยาวชนได้ไปเติมเต็มสิ่งที่ผู้ป่วยขาด ซึ่งปัจจุบันทางโรงพยาบาลได้ได้เปิดพื้นที่ทั้งหมดให้ผู้มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ทั้งเรื่องไอที โภชนาการ ห้องยา ตรวจเด็ก ซึ่งเยาวชนสามารถมาเรียนรู้กับพี่ๆ พยาบาลได้ทุกอย่าง ซึ่งทุกๆ 3 เดือนทางโรงพยาบาลจะชวนเยาวชนจิตอาสามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันว่าเมื่อทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลแล้วได้เรียนรู้สิ่งใดบ้าง ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวในฐานะผู้สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษาว่า จากการดำเนินโครงการเพียงระยะเวลาแค่ 3 เดือนก็ทำให้เห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี อย่างที่เด็กๆ หลายคนที่เข้าร่วมโครงการฯได้สะท้อนออกมาว่าทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ได้ขัดเกลาจิตใจ ไปสู่การเป็นผู้ให้ และรู้จักแบ่งปัน ทั้งนี้ ในอนาคตมูลนิธิฯ จะสนับสนุนกระบวนการในการพัฒนาทักษะการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมีทั้งอาจารย์แกนนำ และนักเรียนแกนนำ พร้อมกับสนับสนุนให้ถอดบทเรียนความสำเร็จที่ผ่านมาเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อขยายผลเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษาให้กว้างขวางต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 02-2701350

แท็ก คุณธรรม   สพฐ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ