สุดยอดการแสดงบรรลือโลก ที่สุดแห่งการรอคอย กับงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8

ข่าวทั่วไป Wednesday August 23, 2006 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ภูมิพีอาร์
งาน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8” เป็นหนึ่งในมหกรรมการแสดงที่มีความโดดเด่น น่าติดตาม และมีผู้ชมตั้งหน้าตั้งตารอคอยมากที่สุดรายการหนึ่งบนปฏิทินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย
สำหรับปีนี้ เป็นวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งของประชาชนชาวไทยทุกคน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8” จึงจัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายการแสดงต่างๆ ล้วนแต่ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ และมากมายกว่าที่เคย เพียงแค่ได้เห็นรายการแสดงทั้งหมด ก็จะทราบว่าความยิ่งใหญ่นั้น ใช่เพียงแค่คำกล่าวอันเลื่อนลอย
โลดแล่นไปกับลีลาของบัลเลต์
เปิดม่านการแสดงในเดือนกันยายนด้วยบัลเลต์ 3 เรื่อง - “โรเมโอ แอนด์ จูเลียต” (Romeo & Juliet) “เดอะ นัตแครกเกอร์” (The Nutcracker) และ “สปาร์ตาคัส” (Spartacus) โดยคณะเบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์ (Belarussian National Ballet Theatre)
บัลเลต์คุณภาพระดับรางวัลทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้รับการกล่าวขวัญว่า “ดีที่สุด” ในสหพันธรัฐรัสเซียในปีที่เปิดการแสดง ซึ่งเชื่อได้เลยว่า การแสดงในครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังอย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการสืบสานศิลปะการเต้นบัลเลต์ที่มีมาอย่างยาวนานในเมืองเบลารุส ภายใต้การควบคุมของผู้กำกับศิลป์ วาเลนติน เอลิซาเรียฟ (1 ใน 3 นักออกแบบท่าเต้นที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย)
ดื่มด่ำกับมหาอุปรากร
สำหรับผู้ที่กำลังรอชมความยิ่งใหญ่ของมหาอุปรากร-โอเปรา ปีนี้งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ได้เตรียมการแสดงไว้ถึง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ “อาอิดา” (12-13 กันยายน) “อิล โทรวาโตเร” (15 กันยายน) “ลา โบแอม” (17 กันยายน) และ “ทอสกา” (4 ตุลาคม)
การแสดงเรื่องอาอิดา อิล โทรวาโตเร และลา โบแอม เป็นผลงานของคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส และคณะนี้ ก็ได้สร้างชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วยุโรป โอเปราเรื่องแรกของเบลารัสเซียนนั้นมีชื่อว่า “Agatka” ประพันธ์โดย Y. Golland เปิดการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2327 ที่โรงละครเนสวิช คณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส (National Opera House of Belarus) ก็ได้ฤกษ์เปิดม่านการแสดงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 ด้วยโอเปราเรื่อง “คาร์เมน” พร้อมทั้งได้รับการสถาปาให้ใช้ชื่อนำหน้าว่า “บอลชอย” ด้วย
สำเนียงเสนาะจากดนตรีคลาสสิก
รายการแสดงต่อจากโอเปราจะเข้าสู่ลำดับของการแสดงดนตรี ด้วยปีนี้เป็นปีฉลองครบรอบวันเกิด 250 ปีของคีตกวีโมซาร์ท โดยในวันที่ 14 กันยายน การแสดงจะเริ่มจากวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา แห่งคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส (Symphony Orchestra of the National Opera House of Belarus) ซึ่งจะบรรเลงคีตนิพนธ์ “Symphony No.40” และ “Requiem Mass in D Minor”
และด้วยฝีไม้ลายมือการควบคุมวงโดยวาทยกร อังเดร กาลานอฟ ได้ส่งให้วงซิมโฟนี ออร์เคสตราของคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส ได้รับการยอมรับว่าเป็นวงดุริยางค์ระดับแถวหน้าวงหนึ่งของทวีปยุโรป
วันที่ 5 ตุลาคม พบกับฝีไม้ลายมือของ บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรหนุ่มชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถในการกำกับวงดุริยางค์ “ออร์เคสตรา อินเตอร์นาซิโอนาเล ดิตาเลีย” พร้อมด้วยคณะนักร้องประสานเสียง จากเมืองเฟอร์โม ประเทศอิตาลี บัณฑิตมีประสบการณ์มากมายในการกำกับวงดุริยางค์ชั้นนำ เช่น Orchestra of St. Luke ในนิวยอร์ก วง Utah Symphony วง Los Angeles Philharmonic Orchestra และล่าสุดคือ La Finice Theatre อันทรงเกียรติแห่งกรุงเวนิส บัณฑิตเป็นผู้คว้ารางวัลเกียรติยศ และเป็นผู้ชนะร่วมในการแข่งขันวาทยกรอันยิ่งใหญ่ในรายการ Maazel-Vilar International Consuctors’ Competition เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งจัดขึ้นที่คาร์เนกีฮอลแห่งมหานครนิวยอร์ก
ทุกห้วงอณูแห่งดนตรีแจ๊ซ
เข้าสู่บรรยากาศแห่งบทเพลงแจ๊ซที่จะสร้างความสุนทรีย์ให้แก่มหกรรมฯ ครั้งนี้ด้วยวงดนตรีแจ๊ซมากมาย เช่น วงนิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ (New Orleans All-Star Brass Band) ในวันที่ 27 กันยายน และถัดมาในวันที่ 28 กันยายน พบกับ 2 วงดนตรี คือ “อีริก ทรูฟฟาซ แจซ ควอเท็ต” (Erik Truffaz Jazz Quartet) จากสวิตเซอร์แลนด์ และ “ซิมโฟนิก แจซ คอนเสิร์ต” (Symphonic Jazz Concert) จากประเทศไทย
นิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ ประกอบไปด้วยกลุ่มนักแสดงมาดิกราส์ชายทั้งหมด 8 คน ที่เปรียบเหมือนกับตัวแทนนักดนตรีวงแจ๊ซและวงเครื่องเป่าจาก 3 ยุคสมัย ที่ไว้ลายความเป็นนักดนตรีมืออาชีพมาตลอดชีวิต พวกเขาพร้อมที่จะนำการบรรเลงดนตรีแจ๊ซที่ยังคงสืบสานไว้ซึ่งกลิ่นอายแห่งนิวออร์ลีนส์ได้อย่างแนบแน่นมาสู่กรุงเทพฯ รวมทั้งการผสมผสานดนตรีแจ๊ซแบบดั้งเดิม เข้ากับดนตรีบลูส์ กอสเปล และเดิร์จ (เพลงไว้อาลัยประเภทหนึ่ง)
อารัมภบทแห่ง “ฟาโด”
มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติในปีนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับ “ฟาโด” (Fado) ซึ่งตามความหมายหมายถึงโชคชะตา แต่ในที่นี้ ฟาโดเป็นรูปแบบการร้องเพลงประเภทหนึ่ง ที่คาดว่ามีต้นกำเนิดที่ประเทศโปรตุเกสในช่วงปี 1820 สำหรับศิลปินผู้ที่จะนำศิลปะการร้องเพลงแบบฟาโดมาแสดงที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 กันยายนนี้คือ “มาริซา” (Mariza) นักร้องฟาโดชั้นนำของโลก โดยลักษณะพิเศษของฟาโดนั้นจะจำแนกด้วยท่วงทำนอง และเนื้อร้องอันเศร้าสร้อย ซึ่งมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องทะเล และชีวิตของคนยากจนและต่ำต้อย
สู่อาณาจักรแห่งการร่ายรำ
นอกจากการแสดงบัลเลต์แล้วนั้น ยังมีคณะเต้นรำอีกมากมายที่จะมาแสดงศิลปะการเต้นรำที่มีความหลากหลายตั้งแต่ การเต้นรำแบบพื้นเมืองไปจนถึงการเต้นรำแบบคลาสสิก และการเต้นบัลเลต์แบบโมเดิร์นจนถึงการเต้นแบบนีโอคลาสสิก มหกรรมศิลปะการแสดงฯ ปีนี้ มีศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆมาให้คุณได้เลือกชม ได้แก่ “เดซัม แดนซ์ คอมปะนี” จากประเทศเกาหลี ในวันที่ 22 กันยายน การแสดงของ “เจนนิเฟอร์ มุลเลอร์ / เดอะ เวิร์กส์” (Jennifer Muller/The Works) จากสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 กันยายน “อินโทรดันส์” (Introdans) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 26 กันยายน “อินากิ อูร์เลซากา แทงโก กรุ๊ป” (Inaki Urlezaga Tango Group) จากอาร์เจนตินาในวันที่ 29 กันยายน “คาลักเชตทรา” (Kalakshetra Theatre) จากประเทศอินเดียในวันที่ 1 ตุลาคม และปิดท้ายด้วย “ไอย์ดา โกเมซ ฟลาเมนโก บัลเลต์” (Aida Gomez Flamenco Ballet) จากสเปน ในวันที่ 6-7 ตุลาคม
กล่าวได้ว่ามหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8 นี้ เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะการแสดงอย่างแท้จริง ซึ่งจะมั่นใจได้เลยว่า มหกรรมฯครั้งนี้ ยิ่งใหญ่และควรค่าแก่การรอคอยยิ่งกว่าที่ผ่านมาทุกปี และเหมาะสมที่จะได้รับการยกย่องให้เป็น “สุดยอดรายการแสดงแห่งปี” อย่างยิ่ง
มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานนาชาติ กรุงเทพฯครั้งที่ 8 นำเสนอโดย อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) บีเอ็มดับเบิ้ลยู เครดิตสวิส โรงแรมดุสิตธานี เครือซีเมนต์ไทย การบินไทย หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ไอทีวี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนการจัดงานโดยกระทรวงวัฒนธรรม
รายละเอียดโดยสังเขปของการแสดง
มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8
Romeo & Juliet
วันอังคารที่ 5 และวันพุธที่ 6 กันยายน
โดย: เบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์
ผู้ประพันธ์เพลง: แซร์เก โปรโคเฟียฟ
ออกแบบท่าเต้น: วาเลนติน เอลิซาเรียฟ
วาทยกร: นิโคไล โคลยัดโค
บัลเลต์ 3 องก์ของแซร์เก โปรโคเฟียฟ ที่นำมาจากบทประพันธ์อมตะอันยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์ โศกนาฏกรรมความรักของหนุ่มสาวซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความบาดหมางของสองตระกูล บัลเลต์เรื่องนี้สร้างขึ้นตามบทประพันธ์ชิ้นเอกของเชกสเปียร์อย่างละเอียด
โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆ ของโปรโคเฟียฟก่อนหน้านี้มาก และก็เป็นบัลเลต์ที่ประสพความสำเร็จอย่างสูง การแสดงรอบปฐมทัศน์มีขึ้นที่คิรอฟเธียเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2483 คณะเบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์ ผู้นำเสนอการแสดงชุดนี้ในครั้งนี้ เป็นคณะละครที่มีผลงาน โดดเด่น และเมื่อปี พ.ศ. 2541 การแสดงชุดนี้เคยได้รับเลือกให้เป็นบัลเลต์ที่ดีที่สุดประจำปีนั้นของรัสเซีย การแสดงในครั้งนี้ออกแบบท่าเต้นโดยวาเลนติน เอลิซาเรียฟ หนึ่งในสามศิลปินผู้เสียสละจนได้รับรางวัลศิลปินมวลชนแห่งรัสเซีย สาขานักออกแบบท่าเต้น การแสดงครั้งนี้มาพร้อมกับวงออร์เคสตราเต็มรูปแบบ
Spartacus
วันพฤหัสบดีที่ 7 และวันศุกร์ที่ 8 กันยายน
โดย: เบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์
ผู้ประพันธ์เพลง: อะราม คาชาเตอร์ยัน
ออกแบบท่าเต้น: วาเลนติน เอลิซาเรียฟ
วาทยกร: นิโคไล โคลยัดโคสปาร์ตาคัส บัลเลต์ 3 องก์ซึ่งประพันธ์ดนตรีโดย อะราม คาชาเตอร์ยันนี้ เป็นผลงานบัลเลต์ชิ้นหลังๆ ที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต บัลเลต์เรื่องนี้จัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 เพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของกรุงโรมในอดีต
สปาร์ตาคัส เป็นทาสที่ถูกขายให้แก่ผู้ฝึกนักต่อสู้กับสิงโต ต่อมาเขากลายเป็นผู้นำในการลุกฮือของเหล่าทาสเพื่อต่อต้านชาวโรมันในปี 72 ก่อนคริสตศักราช สปาร์ตาคัสเป็นผู้วางแผนการปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยทาสและล้มเลิกระบบทาส แต่ภายหลังจากชัยชนะในระยะแรก กองทัพของเหล่าทาสกลับต้องพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพโรมันซึ่งนำโดย มาร์คัส ลิสินัส แครสซัส ขบถทาสที่ถูกจับได้ถูกนำไปตรึงบนไม้กางเขน
The Nutcracker
วันเสาร์ที่ 9 และวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน
โดย: เบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์
ผู้ประพันธ์เพลง: ปีเตอร์ อิลยิช ไชคอฟสกี
ออกแบบท่าเต้น: วาเลนติน เอลิซาเรียฟ
วาทยกร: วิอาเชสลาฟ เชิร์นโค
บัลเลต์ 2 องก์ของปีเตอร์ อิลยิช ไชคอฟสกีเรื่องนี้ เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตัวละครเอกในเรื่องเป็นเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งได้รับ “ตุ๊กตานัตแครกเกอร์” เป็นของขวัญคริสต์มาสจากพ่อทูนหัว คืนนั้น เด็กหญิงผล็อยหลับไปและฝันว่า เธอต่อสู้เพื่อปกป้องตุ๊กตานัตแครกเกอร์จากพระราชาหนู จากนั้น ตุ๊กตานัตแครกเกอร์ก็กลายเป็นเจ้าชายรูปงาม และพาเด็กหญิงไปสู่การท่องเที่ยวอันน่าอัศจรรย์
บัลเลต์เรื่องเดอะ นัตแครกเกอร์ในครั้งนี้นำเสนอโดยคณะเบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์ ซึ่งผลงานของคณะเคยได้รับเลือกให้เป็นบัลเลต์ที่ดีที่สุดของรัสเซียมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2525
Aida
วันอังคารที่ 12 และวันพุธที่ 13
โดย: เนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส
ผู้ประพันธ์เพลง: จูเซปเป แวร์ดิ
วาทยกร: อังเดร กาลานอฟ
ผู้กำกับเวที: แอล. อเล็กซานโดรฟสกายา
อาอิดา เป็นผลงานโอเปราที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของจูเซปเป แวร์ดิ แต่งขึ้นจากเค้าโครงบทประพันธ์ร้อยแก้วของคามิลล์ ดู ล็อกเล กวีชาวฝรั่งเศส และบทละครของออกัสเต มารีเอ็ตเต คำร้องของโอเปรา 4 องก์ (7 ฉาก) เรื่องนี้ประพันธ์โดย อันโตนิโอ กิสลานโซนี อาอิดาจัดแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ไคโรโอเปราเฮาส์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2414 ตามความปรารถนาของอุปราชแห่งอียิปต์เพื่อสะท้อนอดีตอันรุ่งเรืองของอียิปต์
ฉากตามท้องเรื่องเกิดขึ้นในสมัยฟาโรห์ เป็นชีวิตของเจ้าหญิงเอธิโอเปียคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาต้องตกเป็นทาส เธอถูกยื้อยุดอยู่ระหว่างบ้านเกิด ครอบครัว และราดาเมส คนรักซึ่งเป็นแม่ทัพแห่งกองทัพอียิปต์
Mozart symphony concert
วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน
โดย: เดอะ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ออฟ เดอะ เนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส
วาทยกร: อังเดร กาลานอฟ
หัวหน้าผู้ฝึกสอนร้องประสานเสียง: นีนา โลมานโนวิช
คณะซิมโฟนี ออร์เคสตรา ออฟ เดอะ เนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส เป็นหนึ่งในวงซิมโฟนีออร์เคสตราชั้นนำของยุโรป ด้วยการนำของวาทยกรนามว่า อังเดร กาลานอฟ คณะได้สร้างสรรค์ผลงานจนนับเป็นหนึ่งในวงซิมโฟนีออร์เคสตราชั้นนำ และได้เดินทางไปเปิดการแสดงยังหลายประเทศ เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส เยอรมนี อิสราเอล โปแลนด์ ไซปรัส อิตาลี ฯลฯ สำหรับการแสดงในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 250 ปีโมซาร์ท โดยวงจะบรรเลงผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของโมซาร์ทสองชิ้น ได้แก่ Symphony No.40 และ Requiem Mass in D Minor
Il Trovatore
วันศุกร์ที่ 15 กันยายน
โดย: เนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส
ผู้ประพันธ์ดนตรี: จูเซปเป แวร์ดิ
วาทยกร: วิอาเชสลาฟ เชิร์นโค
ผู้กำกับเวที: บี. วโตรอฟ
อิล โทรวาโทร (เดอะ เทราบาดอร์) เป็นผลงานโอเปราของ จูเซปเป แวร์ดิ ประพันธ์บทลิเบรตโตโดย ลีโอเน เอมานูเอล บาร์ดาเร และซาลวาโทร คามมาราโน เค้าโครงเรื่องเดิมจากบทละครเรื่องเอล โทรบาดอร์ของอันโตนิโอ การ์เซีย กีเทียร์เรซ โอเปรา เรื่องนี้ออกแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ ทีโทร อพอลโล ในกรุงโรม เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2396
เรื่องราวเกิดขึ้นทางตอนเหนือของสเปนเมื่อศตวรรษที่ 15 ในช่วงสงครามกลางเมือง ท่านเคานต์ดิ ลูนา สนับสนุนให้เจ้าชายแห่งอารากอนขึ้นครองราชย์ โดยหวังจะกำจัดการต่อต้านของเจ้าชายเออร์เกลแห่งบิสเคย์ ซึ่งมีข้ารับใช้ผู้มีชาติกำเนิดลึกลับคนหนึ่งชื่อ มานริโค เดอะ เทราบาดอร์ ท่านเคานต์และมานริโคต่างหลงรักหญิงสาวคนเดียวกันคือ ลีโอโนรา ซึ่งเป็นนางกำนัลของราชินี ท่านเคานต์คอยเฝ้ามองดูหญิงสาวที่ท่านหลงรักอยู่ใต้หน้าต่างห้องของเธอ แต่หญิงสาวรักมานริโค
ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตก็คือ บุตรชายคนเล็กของท่านเคานต์ถูกลักพาตัวไปโดยหญิงยิปซีคนหนึ่งที่ต้องการแก้แค้นแทนแม่ของเธอ เด็กที่ถูกลักพาคนนั้นคือมานริโค
La boheme
วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน
โดย: เนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส
ผู้ประพันธ์ดนตรี: จิอาโกโม ปุชชินี
วาทยกร: วิอาเชสลาฟ เชิร์นโค
ผู้กำกับเวที: จี. อิสาเกียน
โอเปรา 3 องก์ของจิอาโกโม ปุชชินีเรื่องนี้ ได้เค้าโครงเรื่องจาก Scenes from the Life of Boheme (Scenes de la vie de Boheme) นิยายโศกนาฏกรรมความรักของ เอช. เมอร์เกอร์ เสียงดนตรีอันอ่อนหวานของปุชชินีจะนำคุณเดินทางสู่มหานครปารีส สถานที่เกิดของเรื่องราว
กวีหนุ่มโรดอลโฟตกหลุมรักมิมี ขณะที่จิตรกรมาร์เซลโลก็ตกหลุมรักมูเซตตา สาวนักร้องโอเปรา “หญิงสาวแห่งรัตติกาล” โรดอลโฟและมิมีมีช่วงเวลาแห่งความสุขด้วยกันเพียงระยะสั้นๆ ก็ต้องแยกจากกัน เนื่องจากโรดอลโฟกังวลว่า ความยากจนของพวกเขาจะทำให้อาการป่วยด้วยวัณโรคของมิมียิ่งแย่ลง และเขายังหึงหวงเพราะความเจ้าชู้ของเธออีกด้วย หลายเดือนต่อมา มิมีป่วยหนักมากและกลับมาหาโรดอลโฟที่บ้านซึ่งเขาอยู่กับเพื่อนๆ ทั้งสองได้รำลึกถึงวันแรกที่พบกัน แล้วมิมีก็ตายจากไปอย่างสงบ
ariza, world’s leading fado singer
วันอังคารที่ 19 กันยายน
โดย: มาริซา และนักดนตรี
นำเสนอโดย: สถานทูตโปรตุเกส
มาริซาเป็นนักร้องฟาโดชั้นนำของโลก ฟาโดเป็นการขับร้องรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับโปรตุเกส ที่ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของดนตรีฟาโดในช่วงทศวรรษ 1820s มาริซาถือเป็นแบบอย่างใหม่ของนักร้องฟาโด เพราะเธอโด่งดังมากในยุโรปและอเมริกา น้ำเสียงอันมีเสน่ห์ของเธอได้ปลุกให้ดนตรีฟาโดก้าวสู่สากลอย่างแท้จริง
ในปีนี้ มาริซาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินยอดเยี่ยมของยุโรปสำหรับรางวัลเวิลด์ มิวสิก อะวอร์ด จากสถานีวิทยุช่อง 3 ของบีบีซี ซึ่งเธอเคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2546 ส่วน “Transparente” อัลบัมล่าสุดของเธอได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากเนเธอร์แลนด์ และขึ้นสู่อันดับ 13 ของเวิลด์ มิวสิก ชาร์ตใน Billboard/Soundscan USA ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการวางตลาด และขึ้นถึงอันดับ 6 ในยูโรเปียน เวิลด์ มิวสิกชาร์ตอีกด้วย
Tubingen chamber orchestra Germany
วันพุธที่ 20 กันยายน
โดย: ทูบิงเงิน แชมเบอร์ ออร์เคสตรา เยอรมนี
วาทยกร: กุดนี เอ.เอมิลส์สัน
นำเสนอโดย: สถาบันเกอเธ่ และนีเวีย
คณะทูบิงเงิน แชมเบอร์ ออร์เคสตรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยเฮลมุต คาลเกเยร์ เคยจัดทัวร์คอนเสิร์ตมาแล้วถึง 63 ครั้ง 90 ประเทศทั่วทั้ง 5 ทวีป กุดนี เอ.เอมิลส์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของคณะ เคยได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมากมาย รวมถึงรางวัลชนะเลิศที่เบียล/เบียนเน สวิตเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ. 2545 รางวัลอาร์ทิส ไพร์ซ ประจำ พ.ศ. 2545 ของมหาวิทยาลัยมาซารีค ออฟ ปราก และรางวัลรองชนะเลิศจากการแข่งขันมาสเตอร์เพลเยอร์ส-คอมเพ็ตทิชันที่ลูกาโนเมื่อ พ.ศ. 2537 ใน พ.ศ. 2549 เอมิลส์สันได้รับรางวัลพิเศษจาก Wมูลนิธิ LINDW ประเทศไอซ์แลนด์ นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลจากมูลนิธิริชาร์ด วากเนอร์และมูลนิธิเฮอร์เบิร์ต ฟอน คาราจัน แห่งเมืองซาลซ์บูร์ก
Four seasons
วันศุกร์ที่ 22 กันยายน
โดย: เดซัม แดนซ์ คอมปะนี ประเทศเกาหลีใต้
เดซัม แดนซ์ คอมปะนี เป็นคณะระบำที่ใหญ่ที่สุดคณะหนึ่งในเกาหลีใต้ มีศาสตราจารย์หยาง ซุน-ฮี ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ เป็นผู้นำของคณะ ผลงานชุด “เดอะ โฟร์ ซีซันส์” ชิ้นนี้เป็นการนำเสนอความขัดแย้ง เช่น อะไรคือบ่อเกิดแห่งชีวิต และธรรมชาติของมนุษย์ประกอบด้วยอะไร ซึ่งเป็นคำถามที่แฝงอยู่ในปรัชญาหยิน-หยางของชาวตะวันออก เดอะ โฟร์ ซีซันส์สื่อถึงชีวิต หรืออาจหมายถึงวันเวลา และยังอาจตีความเป็นการเกิดและการตายซึ่งเป็นสิ่งที่เคียงคู่กัน ผู้ชมจะถูกตั้งคำถามให้ไตร่ตรองความหมายของชีวิตผ่านการนำเสนอฤดูกาลทั้งสี่
Jennifer muller/the works
วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน
โดย: เจนนิเฟอร์ มุลเลอร์/เดอะ เวิร์กส์ กลุ่มนาฏศิลป์ร่วมสมัย
เจนนิเฟอร์ มุลเลอร์/เดอะ เวิร์กส์ เป็นคณะนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่มีผลงานโดดเด่น และได้ตระเวนออกแสดงยังประเทศต่างๆ ถึง 37 ประเทศใน 4 ทวีป และ 30 รัฐในอเมริกา คณะเจนนิเฟอร์ มุลเลอร์เป็นที่รู้จักในระดับโลกอย่างรวดเร็ว และได้นำเสนอผลงานซึ่งเป็นการแสดงครั้งแรกมากกว่า 85 ชิ้น เคยร่วมงานกับศิลปินต่างๆ มากมาย เช่น โยโกะ โอโน, เคธ แฮริง และเคธ จาร์เร็ตต์ ผลงานของคณะเป็นที่กล่าวขานในเรื่อง “ความจับใจ” “การสร้างแรงบันดาลใจ” “ความสว่างไสว” และ “การใช้เทคนิคทางดนตรีชั้นสูง” สำหรับการแสดงที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ คณะเจนนิเฟอร์ มุลเลอร์ จะนำเสนอผลงาน 4 ชิ้นคือ Flowers, Island, Hymn For Her และ Momentum
Introdans, the Netherlands
วันอังคารที่ 26 กันยายน
โดย: คณะบัลเลต์ร่วมสมัยจากเนเธอร์แลนด์
นำเสนอโดย: สถานทูตเนเธอร์แลนด์
อินโทรดันส์ เป็นคณะบัลเลต์ร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ที่สุดคณะหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ รูปแบบงานของคณะได้รับอิทธิพลจากนักออกแบบท่าเต้นหลายคน ซึ่งเป็นผู้สรรค์สร้างงานบัลเลต์คลาสสิกและท่าเต้นมากมาย โดยนำมาผสมผสานกับเทคนิคสมัยใหม่ การแสดงในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ อินโทรดันส์จะนำเสนอผลงานชุด Dutch Dance Design ซึ่งเป็นการแสดงถึงความหลากหลายของงานบัลเลต์ 3 ชิ้น คือ Creatures, Gilles และ Purcell Pieces ผลงานของนักออกแบบท่าเต้นชาวดัตช์ผู้โด่งดังสามคนคือ นิลส์ คริสเต, ทัน วิกเกอร์ส และเอ็ด วุบเบ
New orleans all-star brass band
วันพุธที่ 27 กันยายน
โดย: นิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ สหรัฐอเมริกา
นำเสนอโดย: สถานทูตสหรัฐอเมริกา
คณะนิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ เป็นวงดนตรีคลาสสิกซึ่งประกอบด้วยสมาชิกชาย 8 คน ซึ่งเป็นนักแสดงในเทศกาลมาร์ดิกราส พวกเขามีรูปแบบของการเล่นดนตรีที่โดดเด่น โดยมีเอกลักษณ์ในการเน้นมรดกทางดนตรีของอเมริกัน สมาชิกของวงได้แก่ ราชีด อาลี อักบาร์ (เทเนอร์ แซกโซโฟน) ลีโอเนล บาทิสต์ จูเนียร์ (กลองเบส) เมอร์วิน แคมเบลล์ (ทรัมเป็ตและขับร้อง) โคเรย์ เฮนรี (ทรอมโบน) เจฟฟรีย์ ฮิลล์ส (ทูบา) ชาร์ลส โจเซฟ (ทรอมโบน) อาเจย์ มัลเลอรี (กลองสแนร์) และ เอริก เทราบ์ (เทเนอร์ แซกโซโฟน)
First part: symphonic jazz concert, thailand
second part: erik truffaz jazz quartet
วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน
โดย: ซิมโฟนิก แจซ คอนเสิร์ต จากประเทศไทย และ เอริก ทรูฟฟาซ แจซ ควอเท็ต จากสวิตเซอร์แลนด์
ช่วงที่ 1: ซิมโฟนิก แจซ คอนเสิร์ต
ทอร์สเทน โวลล์มานน์ เป็นนักประพันธ์ดนตรีและวาทยกรชาวเยอรมัน ที่ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ปีนี้เขามาเสนอผลงานใหม่ร่วมกับ โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน ซึ่งจะมีทั้งงานที่เขาแต่งเองและเพลงแจซ
ซึ่งรู้จักกันดีอยู่แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ นักดนตรีที่เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ยังมี ปีเตอร์ ฟานเดอร์มัวเตเล นักกีตาร์จากเบลเยียม แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ นักเปียโน และสองสมาชิกจากมิสเตอร์ แซ็กแมน เทิดศักดิ์ วงศ์วิเชียร (เบส) และสมภพ แพร่แสงเอี่ยม (กลอง) พวกเขาจะบรรเลงบทเพลงพร้อมด้วยนักดนตรีอีก 20 ชีวิต
ช่วงที่ 2: เอริก ทรูฟฟาซ แจซ ควอเท็ต
เอริก ทรูฟฟาซ เป็นนักทรัมเป็ตแจซผู้เขย่าวงการเพลงของยุโรปด้วยการเล่นสดอย่างสร้างสรรค์ เขามีผลงานรวมอัลบัมหลายชิ้น เช่น Saloua, The Walk of the Giant Turtles และ Mantis สำหรับการแสดงที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ เขามาพร้อมกับมาร์ก เออร์เบ็ตตา (กลอง), แพทริก มูลเลอร์ (เปียโน) มาร์เซลโล กิวลิอานี (กีตาร์ คีย์บอร์ด ขับร้อง) ผู้มีส่วนช่วยให้เกิดสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวงควอเท็ต ทรูฟฟาซและคณะสร้างสรรค์เสียงเพลงอันจับใจที่จะทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นและตกตะลึง
Inaki urlezaga tango
วันศุกร์ที่ 29 กันยายน
โดย: อินากิ อูร์เลซากา แทงโก้ กรุ๊ป จากอาร์เจนตินา
นำเสนอโดย: สถานทูตอาร์เจนตินา
อินากิ อูร์เลซากา เป็นหนึ่งในนักเต้นชั้นเยี่ยมของอาร์เจนตินา และเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคณะบัลเลต์คอนเซียร์โต การแสดงในมหกรรมครั้งนี้ เขาจะปลุกกรุงเทพฯ ให้ร้อนเป็นไฟด้วยการแสดงอันเร่าร้อนของนักเต้น 15 ชีวิต
นักเต้นผู้ชนะเลิศรางวัลนานาชาติอย่างอินากิ มีผลงานมากมายทั้งในรูปแบบคลาสสิกและสมัยใหม่ นักเต้นระดับรางวัลเหรียญทองคนนี้ เคยเป็นนักเต้นหลักให้คณะรอยัลบัลเลต์ที่กรุงลอนดอนมากว่าทศวรรษ และปัจจุบันเป็นนักเต้นหลักของคณะดัตช์ เนชันแนล บัลเลต์ เมืองอัมสเตอร์ดัม เขาเคยร่วมงานกับบัลเลต์คอนเซียร์โตมาตั้งแต่เริ่มแรก และมุ่งมั่นสู่จุดหมายเดียวคือ นำเหล่านักเต้นอาร์เจนตินาคณะนี้ก้าวสู่ความสำเร็จระดับโลก
Ramayana
วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม
โดย: คาลักเชตทรา เธียเตอร์ ประเทศอินเดีย
นำเสนอโดย: สถานทูตอินเดีย
คาลักเชตทราเป็นสถาบันชั้นนำแห่งหนึ่งของอินเดียที่สร้างผลงานศิลปะการแสดงมากมาย รุกมีนี เทวี อรุณดาเล ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2479 เพื่อเป็นสถานศึกษาทางด้านวัฒนธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประเพณีการร่ายรำและดนตรี ต่อมาสถาบันแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมของความดีเลิศ รัฐสภาของอินเดียยกย่องว่าคาลักเชตทราเป็นสถาบันที่มีความสำคัญระดับชาติแห่งหนึ่ง
ในครั้งนี้ นักแสดงที่มีพรสวรรค์ของคณะจะนำเสนอละครสององก์จากเรื่องรามายณะ โดยคัดย่อจากตอน Choodamani Pradanam เป็นตอนที่หนุมานมอบจุฑามณีให้นางสีดา และตอนที่สองคือ Maha Pattabhishekam ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับสงครามและการขึ้นเสวยราชสมบัติของพระรามในการแสดงมีการ ขับร้องและเล่นดนตรีประกอบ พร้อมทั้งมี คำแปลภาษาไทยและอังกฤษให้ด้วย
Tosca, world premiere
วันพุธที่ 4 ตุลาคม
โดย: แอสโคลิ พิเซโน โอเปรา เธียเตอร์ ประเทศอิตาลี
ผู้ประพันธ์ดนตรี: จิอาโกโม ปุชชินี
วาทยกร: อันโตนิโอ ซิพริอานี
นำเสนอโดย: สถานทูตอิตาลี
โอเปรา 3 องก์นี้เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม จิอาโกโม ปุชชินีแต่งคำร้องจากบทลิเบรตโตของลุยจิ อิลลิกา และจูเซปเป จิอาโคซา มีเค้าโครงเดิมจากเรื่อง La Tosca ซึ่งเป็นบทละครของวิกตอเรียน ซาร์โด เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2443 ที่กรุงโรม
คาวาราดอสซี คนรักของทอสกา ให้ที่ซ่อนแก่นักโทษการเมืองคนหนึ่ง ทำให้เขาถูกทรมาน ทอสกาสัญญาว่าจะพลีร่างให้หัวหน้ากองตำรวจแลกกับโทษประหารชีวิตของคนรัก แต่ทุกอย่างกลับล้มเหลว และจบลงด้วยความตายของทอสกา ผู้กระโดดลงจากหลังคาเรือนจำขณะที่โทษประหารชีวิตของคาวาราดอสซี ซึ่งเป็นเรื่องล้อเล่นก็กลับกลายเป็นเรื่องจริง โอเปราเรื่องนี้จัดแสดงโดยคณะโอเปราที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลี และการแสดงที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ของคณะ เป็นครั้งแรกของโลก
Orchestra internazionale ditalia with chorus and singers
วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม
โดย: วงออร์เคสตรา อินเตอร์นาซิโอนาเล ดิตาเลีย พร้อมด้วยนักร้องและวงร้องประสานเสียงจากเฟอร์โม ประเทศอิตาลี
วาทยกร: บัณฑิต อึ้งรังษี
นำเสนอโดย: สถานทูตอิตาลี
วงออร์เคสตรา อินเตอร์นาซิโอนาเล ดิตาเลีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529 และได้ออกแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตและร่วมงานกับคณะโอเปรา สมาคมคอนเสิร์ตต่างๆ มากกว่า 600 งาน รวมถึงการเข้าร่วมงานเทศกาลทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลยูโรเปียนไพร์ซทางด้านวัฒนธรรมในฐานะวงซิมโฟนีออร์เคสตราใน พ.ศ. 2540
การแสดงในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ บัณฑิต อึ้งรังษี จะเป็นผู้ควบคุมวง บัณฑิตเคยทำหน้าที่ควบคุมวงออร์เคสตราชั้นนำต่างๆ มากมาย เช่น วงออร์เคสตราเซนต์ลุกส์ที่นิวยอร์ก ยูทาซิมโฟนี ลอสแองเจลิส ฟิลฮาโมนิก ออร์เคสตรา และล่าสุดคือวงลา เฟนิซ เธียเตอร์ที่เวนิส ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 เขาได้รับเกียรติบัตรและเป็นผู้ชนะเลิศร่วมในการแข่งขัน Maazel-Vilar International Conductors’ Competition ซึ่งจัดขึ้นที่คาร์เนกีฮอลในนิวยอร์ก
Carmen
วันศุกร์ที่ 6 และวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม
โดย: กอมปาเนีย เด ดันซา เอสปาโนลา ไอย์ดา โกเมซ ประเทศสเปน
นำเสนอโดย: สถานทูตสเปน
ไอย์ดา โกเมซ เป็นนักบัลเลต์ฟลาเมนโกระดับแนวหน้าคนหนึ่งของสเปน เธอเกิดที่กรุงมาดริดเมื่อปี พ.ศ. 2510 และได้รับเกียรติบัตรทางด้านการเต้นตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี จากนั้นเธอเข้าทำงานกับคณะเนชันแนล บัลเลต์ คอมปะนีและกลายเป็นนักบัลเลต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ในเวลาไม่นาน ไอย์ดาก็สามารถก่อตั้งคณะของเธอเองขึ้น ซึ่งก็คือ คณะกอมปาเนีย เด ดันซา เอสปาโนลา ไอย์ดา โกเมซ นั่นเอง หลังจากมีคณะเป็นของตนเอง เธอก็ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมของสเปนให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ทำให้เธอเป็นผู้อำนวยการที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะสแปนิช เนชันแนล บัลเลต์ นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก Instituto de Cultura del Teatro Bellas Artes และรางวัลเนชันแนล ไพร์ซ ใน พ.ศ. 2547
ไอย์ดา โกเมซและคณะ เป็นที่รู้จักในด้านความเข้มข้นของการร่ายรำแบบฟลาเมนโกและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สำหรับการแสดงที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้คณะของเธอภูมิใจนำเสนอ “คาร์เมน” ซึ่งเป็นผลงานใหม่ล่าสุดโดยมีนักเต้นร่วมแสดงรวม 25 คน
ทีมงานประชาสัมพันธ์ภูมิพีอาร์
วรกร บุญรัตนกุล
สิทธิ วัฒนายากร
โทรศัพท์ 0-2610-3716
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ