กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--จีเอเบิล
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จับมือบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการประกวด ‘Network Security Contest 2006’ ระดับ อุดมศึกษาครั้งแรกของเมืองไทย เฟ้นหาจุดอ่อนของระบบ Security ในสถาบันการศึกษา หวังต่อยอดนำไปพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน Security ของไทย เผยแนวโน้มระบบ Security มาแรงแต่ผู้รู้ลึกรู้จริงมีนับจำนวนได้ TCS ประกาศครบรอบ 15 ปีขอร่วมสร้างสรรค์สังคม ปลูกฝังทัศนคติที่ดี และเป็นแรงจูงใจให้นิสิต นักศึกษาใฝ่หาแหล่งข้อมูลความรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง ของโลกยุค Globalization และ Cyber War
ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Uninet) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ระบบเครือข่าย (Network) ทั้งภายในสถาบันการศึกษา และองค์กรทั่วไปอย่างแพร่หลาย แต่ปัญหาหลักที่พบก็คือ เรื่องของระบบรักษาความปลอดภัย โดยผู้ใช้สามารถต่อเชื่อมเข้ามายังเครือข่ายได้ หากระบบรักษาความปลอดภัยไม่มีศักยภาพเพียงพอก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแฮกข้อมูลขององค์กร หรือได้รับไวรัสที่จะเข้ามาทำลายทั้งข้อมูลและเครื่อง โดย สกอ. และบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด จึงเกิดแนวคิดร่วมกันในการกระตุ้นให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของ Security จึงร่วมกันจัดโครงการประกวด ‘Network Security Contest 2006’ ระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศขึ้น เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
“ปัจจุบันการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ยังให้ความสำคัญกับระบบ Security น้อยมาก หลักสูตรส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรพื้นฐานทางด้านระบบเครือข่าย หรือ Application ทางด้านเครือข่าย ซึ่งนักศึกษา อาจารย์ รวมถึงผู้บริหารยังไม่มีความเข้าใจระบบ Security นัก Technology และ Know how ด้าน Security ภายในมหาวิทยาลัยยังน้อยมาก ไม่มีหลักสูตรที่ลงลึกจริงๆ ดังนั้นการประกวดจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทางมหาวิทยาลัยเห็นถึงความสำคัญ และสามารถจัดหลักสูตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับ Security ในการเรียนการสอน” ผศ.วิชาญกล่าว
นายไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (TCS) เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีพิเศษสำหรับทีซีเอส เนื่องจากได้เปิดดำเนินธุรกิจมาครบรอบ 15 ปีเต็ม บริษัทฯ จึงอยากตอบแทนและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม ประกอบกับกลุ่มสถาบันการศึกษาจัดเป็นลูกค้าที่อยู่คู่กับทีซีเอสมาโดยตลอด จึงมีความยินดีอย่างยิ่งในการจัดประกวดโครงการ Network Security Contest 2006
สำหรับวัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ นิสิต นักศึกษา ได้รับทราบความก้าวหน้า ความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีสารสนเทศด้านเครือข่าย และเป็นเวทีระดับประเทศที่ให้โอกาส นิสิต นักศึกษา ในยุคสารสนเทศได้แสดงความสามารถในทางสร้างสรรค์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้องเหมาะสมและคำนึงถึงเรื่องของจรรยาบรรณเป็นสำคัญ สุดท้ายก็จะเป็นปลูกฝังทัศนคติที่ดี และเป็นแรงจูงใจให้นิสิต นักศึกษา รักการเรียนรู้ ใฝ่หาแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ ในโลกไซเบอร์อินเตอร์เน็ต
ผศ.วิชาญ กล่าวต่อถึงรูปแบบของการจัดประกวดว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ควรจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.Pre Contest คือ การผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจ 2.Contest ช่วงการประกวดแข่งขัน และ 3.Post Contest เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการประกวดมาผลักดันให้เกิดหลักสูตร หรือ ความร่วมมือทางวิชาการของสถาบันการศึกษา เท่ากับเป็นการต่อยอดให้กับระบบการเรียนการสอน การถ่ายทอด (Transfer) เทคโนโลยีต่างๆ ก็จะต่อเนื่องกันไป ซึ่งหากจัดต่อเนื่องไป ก็เท่ากับเป็นการต่อยอดความรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน Security ในเมืองไทยได้ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Security จริงๆ ในเมืองไทย มีน้อยมากนับจำนวนได้
“ความคาดหวังจากการประกวดลำดับแรกก็คือ สร้างความเข้าใจ ให้ผู้ใช้เห็นความสำคัญ และเห็นถึงความจำเป็นของระบบ Security ที่ต้องนำมาใช้ในการทำงาน ต่อมาก็คือ การจัดทั้ง Pre Contest และ Post Contest จะทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนและทราบถึงปัญหาของ Security ในภาคการศึกษาของไทยว่าอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งจะสามารถเจาะลึกลงไปถึง Technology และ Know how ที่จำเป็น และเมื่อเสนอเป็นหลักสูตรก็จะทำให้กระบวนการศึกษา Security ดีขึ้น เพราะ Security เป็นเรื่องที่กว้าง แต่ตรงไหนที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา ต้องหาให้เจอ“ ผศ.วิชาญกล่าว
ผศ.วิชาญกล่าวต่อว่า ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงอาจารย์หลายๆ ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญ เพียงแต่ยังไม่แน่ใจถึงพื้นฐานของนิสิตนักศึกษาแต่ละสถาบันจะแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งโครงการนี้ก็จะทำให้ผู้บริหารได้เห็นภาพรวมว่า ประเทศไทยเราขาดความรู้ด้านใด เรื่องไหนที่ดีอยู่แล้ว เรื่องไหนที่เรามีปัญหา ดังนั้นการประกวดครั้งนี้คงไม่ได้กระตุ้นเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แต่จะเป็นการกระตุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยไม่ว่าจะเป็น องค์กรเอกชน ภาครัฐ อาทิ SIPA กระทรวง ICT ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบ Security
“โครงการนี้เป็นการประกวดปีแรก อย่าเพิ่งกังวลมากนักในเรื่องของรางวัล เรื่องของความมั่นใจ คิดซะว่า ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ สถาบันการศึกษาใดมีผู้เชี่ยวชาญก็นำมาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน อย่ามองว่าเป็นการแข่งขัน ให้มองถึงการช่วยพัฒนาประเทศต่อไปได้” ผศ.วิชาญกล่าว
นายเกรียงศักดิ์ กิจกาญจนไพบูลย์ Security Consulting Department Manager บริษัท จีเอเบิล จำกัด กล่าวถึงรูปแบบของโครงการว่า ให้ภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ส่งตัวแทนมาคณะละ 1 ทีม ทีมละ 4 คน พร้อมอาจารย์ประจำทีม 1 คน กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2549 โดยจะต้องส่งเอกสารประกอบการสมัครทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) มาถึงบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด เท่านั้น ไม่รับสมัครทางอีเมลล์ เนื่องจากมีเอกสารที่จะใช้พิจารณาค่อนข้างมาก
โดยคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากทีซีเอส จะคัดเลือก 50 ทีมจากจำนวนทีมที่สมัครเข้ามาทั้งหมด เพื่อนำมาคัดเลือกรอบที่ 1 ซึ่งจะคัดเลือกจาก 50 ทีม เหลือเพียง 10 ทีม และคัดเลือกรอบสุดท้ายหาผู้ชนะเลิศ ด้วยโจทย์ที่คณะกรรมการตั้งให้ โดยแต่ละทีมต้องหาจุดโหว่ วิธีแก้ไข และหาวิธีป้องกันระบบให้ได้
สำหรับรางวัลประกอบไปด้วย รางวัลที่ 1 เงินสด 40,000 พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ รางวัลที่ 2 เงินสด 20,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลที่ 3 เงินสด 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ โดยจะประกาศทีมชนะเลิศและรางวัลต่างๆ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2549
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล
คุณชุติมา สีดา
คุณจรีย์วิบูล บุญชนะโกศล
คุณนุสรินทร์ เพ็ชร์หลำ
โทร. 0-2678-0200 ต่อ 2996-9
e-mail : g-able.pr@g-able.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net