กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สป.
คทง. เฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาฯ (สป.) ยื่นข้อเสนอแนะ 6 ประการ ต่อรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ กรณีการเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนทางบก และเขตแดนทางทะเล เพื่อเป็นกรอบในการเจรจาของรัฐบาล ระหว่างไทยและกัมพูชา
เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.52) คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาฯ (สป.) โดยมีว่าที่ร้อยตรี วิจิตร
อยู่สุภาพ ประธานคณะทำงานฯ พร้อมด้วย อ.เกษม จันทร์น้อย และสมาชิกคณะทำงานฯ ได้รายงานความก้าวหน้า และยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ กรณีการเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนทางบก และเขตแดนทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา เนื่องจากจะมีการเจรจาระหว่างกระทรวงต่างประเทศกับประเทศกัมพูชา ในเดือนเมษายน 2552 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการเจรจาด้วยความระมัดระวังโดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหารฯ ยื่นข้อเสนอแนะ 6 ประการ ประกอบด้วย
1) รัฐบาลควรทบทวนบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. พ.ศ.2544 ว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในบันทึกข้อตกลงข้างต้นอาจเข้าข่ายหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ และทั้งนี้ หากรัฐบาลจะใช้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจา รัฐบาลควรพิจารณาให้มีการดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก่อนที่จะใช้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชา
2) สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล (Joint Development Area) ระหว่างไทยกับกัมพูชารัฐบาลควรนำกรอบการเจรจาเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550มาตรา 190 3) การเจรจาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรยึดหลักการสากล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 4) ในการเจรจาเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรนำประเด็นเรื่องชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ในหลายพื้นที่มาการเจรจาด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ไข และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีปัญหาซ้ำในพื้นที่อื่นอีก
5) รัฐบาลควรเจรจาเขตแดนทางบกและทางทะเลไปพร้อมๆ กัน แต่ในกรณีที่ยังมีการละเมิด หรือการรุกล้ำจากฝ่ายกัมพูชา รัฐบาลควรชะลอการเจรจาออกไปก่อน และ 6) รัฐบาลควรกำหนดกลไกและปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการที่รับผิดชอบการเจรจาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง และมีบูรณาการในการเจรจา โดยจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (Office of The National Economic and Social Advisory Council)
128 ถนนพญาไท อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 27 ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 0-2612-9222 ต่อ 118 — 119 โทรสาร 0-2612-6919 WWW.nesac.go.th E-Mail :- nesac_pr@yahoo.com