“สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ใน “เยิรพระยม” นวัตกรรมศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 31, 2009 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จะรับมือกับความตายได้อย่างไร? หลังจากชม “เยิรพระยม” นวัตกรรมศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัย โดยคณะละครมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ Bangkok University Theatre Company มีคำตอบให้กับผู้ร่วมชม ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากฝีมือการกำกับการแสดงและประพันธ์บทโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรรณศักดิ์ สุขี และ ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ ผู้อำนวยการแสดง ที่ต้องการนำเสนอนวัตกรรมศิลปะการแสดงที่ผสมผสานระหว่างไทย และสากล ทั้งรูปแบบการแสดงและดนตรี ผสานกับเรื่องราวที่ร่วมสมัย เครื่องแต่งกาย และบทที่ได้นำแก่นเรื่องมาจากพุทธปรัชญาและสัจธรรม ที่ว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” หรือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นถึงความงามของความตาย ผ่านตัวละคร คุณยาย ที่รับบทโดย นีรนุช ปัทมสูต ร่วมกับหลานชายที่แสดงโดย ประยูรศักดิ์ รัตนเศรณี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวถึงการแสดงนี้ว่า “ผลงานของอาจารย์ พรรณศักดิ์ ทุกๆ เรื่องมีคุณภาพสูงมากระดับสากล เด่นที่สุดคือเรื่องบท ซึ่งอาจารย์ทำได้หลายประเภท มีความลึกซึ้งและสนุกสนาน คาดว่าผลงานชิ้นนี้ของทีมงานคณะละครมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะช่วยจุดประกายและก่อให้เกิดมิติใหม่ในวงการการแสดง ตลอดจนวงการการศึกษา ให้เกิดการผลิตนวัตกรรมการแสดงใหม่ๆ ในเชิงลึก ที่มีคุณค่าด้านวัฒนธรรม และศิลปะที่สัมผัสได้” หนึ่งในผู้ชม รศ.ดร.นราพงษ์ จรัสศรี หัวหน้าภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความรู้สึกหลังชมการแสดงเยิรพระยมว่า “อยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนให้มีการแสดงเช่นนี้เกิดขึ้น ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกฎธรรมชาติของชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นประเด็นให้แง่คิดกับผู้ชม และยังเป็นการยกระดับผู้ชม ที่ไม่ใช่การชมแค่ความบันเทิง แต่เป็นการชมพร้อมได้แง่คิดกลับไปด้วย” ส่วน ผศ.อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์ ภรรยา ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เผยว่า “เป็นละครที่ประมวลความงดงามในหลากหลายมิติไว้ด้วยกัน เน้นย้ำ สัจธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านการแสดงที่เป็นไทยร่วมสมัยทั้งดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งล้วนเข้ากันได้อย่างงามวิจิตรและมหัศจรรย์ ละครเรื่องนี้สอนให้เรา “ตื่น” และมีปัญญาตระหนักถึงความไม่จีรังในทุกๆ สิ่ง ในฐานะที่เคยสอนกวีนิพนธ์ประทับใจมากที่พระยมในเรื่องนี้เป็นหนุ่มรูปงามสุภาพ ประทับมาบนราชรถ นับเป็นการนำเสนอเรื่องความตายในมุมมองที่แตกต่างออกไป แต่ที่สุดแล้วผู้ชมก็จะตระหนักได้ว่า ชีวิตเรานั้นแสนสั้นราวกับน้ำค้างยามเช้า เราควรทำความดีและทำประโยชน์ให้มากที่สุด ก่อนที่ “เขา” จะมารับ” ในขณะที่ แพทย์หญิง วรพรรณ เสนาณรงค์ เผยว่า “เป็นการแสดงที่ดีมากเรื่องหนึ่งที่ยังคงความงดงามในแบบแผนของศิลปะไทยได้อย่างดีมากๆ โดยเฉพาะบทละคร ที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษมีความละเอียดลออมากทีเดียว เพราะคำพูดในบทไทยบางตอนเป็นกาพย์ กลอน ในขณะที่คำแปลภาษาอังกฤษก็มีความงดงามทางภาษา และยังแปลได้อย่างลึกซึ้งตรงกัน รวมถึงเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับธรรมะผ่านตัวหลานชาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสมัยใหม่ และคุณยายที่มีความเป็นโบราณ แต่ตัวละครทั้ง 2 ตัวสื่อสารเรื่องราวได้อย่างลงตัว เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ถึงแม้เรื่องราวจะเป็นหลักธรรมที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็นำเสนอได้อย่างมีความเป็นวิจิตรศิลป์” ด้าน ธีราพร วิรุฬห์รักษ์ อดีตผู้จัดการโรงละครมณเฑียรทองเธียเตอร์ กล่าวว่า “เนื่องจากส่วนตัวเคยทำละครให้ผู้อื่นชมมาก่อน หลังจากชมเยิรพระยมแล้ว จึงรู้สึกชื่นชมในความพยายามของผู้จัดทำอย่างมาก เพราะเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ยากในการสื่อสาร ที่ชื่นชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องคอนเซ็ปต์และบทละครที่ดีมาก โดยรวมแล้วรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน แม้แต่ชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนาก็สามารถเข้าใจได้จากบทเพลง ดนตรี ที่ซาบซึ้งดีมาก และคำบรรยายซับไตเติ้ล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และน่าจะโกอินเตอร์ได้อย่างสบายๆ สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ได้มาชมแล้วจะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ได้แง่คิดเรื่องอนิจจัง สังขาร มีเกิดก็มีจากส่วนรุ่นเด็กก็จะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างยายหลาน ซึ่งเป็นความใกล้ชิดในครอบครัวไทยที่หาแทบไม่ได้แล้วในสมัยนี้” ปิดท้ายด้วย อาจารย์ กษาปณ์ ปัทมสูต อาจารย์ประจำภาควิชากำกับการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และยังเป็นลูกชายของศิลปินอาวุโส ผู้กำกับมากความสามารถ สุประวัติ ปัทมสูต เผยว่า “ต้องยอมรับว่าเป็นคณะละครที่ทำการแสดงได้ดีเกินคาด รู้สึกประทับใจกับการแสดงที่ต้องการนำเสนอเรื่องของธรรมะที่เข้าใจได้ยาก มาเสนอได้อย่างถึงแก่นผ่านตัวละคร 2 ตัว ซึ่งผมชอบนะที่สามารถนำเสนอเรื่องราวได้อย่างมีความเป็นศิลปะร่วมสมัย และมีรายละเอียดในเรื่องของเนื้อหาเยอะมากๆ อย่างตอนฉากเอเอฟ ที่มีการให้โหวต วี1 อนิจจัง วี2 ทุกขัง วี3 อนัตตา ซึ่งบทละครยังมีนัยยะที่ซ่อนอยู่ แต่เป็นนัยยะที่สามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน หรือแม้กระทั่งตัวตนของพระยมเอง เป็นสิ่งที่คนเราสมมุติสร้างภาพขึ้นเอง หากคุณทำไม่ดี คุณก็อาจมองว่าพระยมน่ากลัว แต่ตัวละครของยายหลานคู่นี้ที่ทำแต่ความดี ยายถึงได้พูดกับหลานชายว่า พระยมหน้าตาละหม้ายคล้ายใคร คล้ายหลานชายนี่เองก็เพราะหลานชายคือกรรมดีของคุณยาย ต้องยอมรับคณะละครเรื่องนี้ตั้งใจทำกันจริงๆ เพราะทำให้เราเข้าใจได้ว่ามรณานุสติ เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ไกลตัว ซึ่งความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้างกรรมดีเพื่อรอคอยวาระนั้นมาถึง” วันนี้เยิรพระยมทำหน้าที่เหมือนภิกษุ ภิกษุณี ในการสืบสานคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเตรียมความพร้อมรับความตายอย่างมีสติ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร.0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ภัควลัญชญ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ