คต. ผลักดันผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรกลไทยทดแทนการนำเข้า

ข่าวทั่วไป Tuesday March 31, 2009 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--คต. นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทยได้จัดสัมมนา เรื่อง “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้มั่นใจเครื่องจักรกลไทย” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ณ โรงแรมพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตได้ภายในประเทศทดแทนการนำเข้า ซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 450,000 ล้านบาท และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ไทยผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล และเพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศตามนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล การสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ ผู้ผลิตเครื่องจักรกล และสถาบันการเงินมาให้ความรู้และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องจักรกลไทย และทำอย่างไรที่จะเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนการลงทุนอย่างไรจึงจะคุ้มค่า รวมทั้งมีการสาธิตวิธีการทำงานของเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีทันสมัยอย่างครบวงจรและเหมาะสมกับจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ เครื่องจักรการเกษตร — เครื่องสีข้าว เครื่องคัดขนาดข้าว เครื่องอบระบบดูดความชื้น เครื่องอัดข้าวพอง เครื่องบดย่อยไม้ เครื่องผสมปุ๋ย เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เครื่องจักรเกี่ยวกับพลังงาน — เครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็ง เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำ เครื่องอัดแท่งชีวมวล เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ — เครื่องบรรจุถุงและซีนถุง และเครื่องจักรกล CNC นางอัญชนาฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีผู้สนใจ เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 335 คน ทั้งภาคราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มโอท็อป ผู้ประกอบการของจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี และชัยนาท สถาบันการศึกษา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และมีผู้ประกอบการ และเกษตรกรให้ความสนใจขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักรกลจำนวน 160 ราย โดยเครื่องจักรการเกษตรที่ได้รับความสนใจมาก คือ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ซึ่งมีการสั่งซื้อในระหว่างการจัดสัมมนาจำนวน 5 ราย และมีผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จำนวน 11 ราย ในวงเงินกู้จำนวน 38 ล้านบาท โดยสนใจเครื่องจักรการเกษตร ได้แก่ เครื่องสีข้าว เครื่องคัดขนาดข้าว เครื่องบดย่อยไม้ เครื่องผสมปุ๋ย และเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยธรรมชาติมากกว่าปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนและใช้วัสดุจากธรรมชาติในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ