โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ TMC / NSTDA คัดเลือก 20 เด็กไทยเก่งวิทย์ ให้ทุนเรียนถึงปริญญาเอก

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday August 8, 2006 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--สวทช.
เช้าวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2549 ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ได้เป็นประธานในการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (JSTP) จำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้รับทุนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาภายในประเทศ จากผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นประจำปี 2549 โดยมี ศ.ดร.ยุงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการ TMC และประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ และ ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญ สวทช. ร่วมเป็นเกียรติในงานแสดงความยินดีและปฐมนิเทศนักเรียนทุนระยะยาวประจำปี 2549
ศ.ดร.ชัชนาถฯ กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสดีที่เยาวชนทุกคน จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้รับการพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ตามความสนใจและความถนัด จนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ โดยมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำใน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด”
สำหรับการมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: JSTP) ที่ดำเนินงานโดย TMC / NSTDA และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2540 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะดำเนินการคัดเลือกเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จนถึงระดับปริญญาตรี ประมาณปีละ 100 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง และการทดสอบมาตรฐาน เช่น การทดสอบความถนัดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเชาวน์ปัญญา รวมทั้ง ลักษณะทางจิตวิทยาด้วยข้อสอบมาตรฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมดำเนินโครงการฯ
สำหรับในปี 2549 นี้ ได้คัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ในรอบแรกทั้งหมดมากกว่า 2,000 คน ให้เหลือ 120 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ 3 ครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากนั้นได้คัดเลือกให้เหลือจำนวน 20 คนที่มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ารับทุนระยะยาว (JSTP รุ่นที่ 8) ซึ่งพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ตลอดจนผลงานในรูปของโครงงานวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอ โดยเป็นเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 5 คน และเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และปริญญาตรี จำนวน 15 คน ทั้งนี้ ตัวอย่างผลงานเด่นของเด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนการศึกษาในปีนี้ อาทิ ผลงานการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของหุ่นยนต์เตะฟุตบอลที่ได้จากการเรียนรู้และการออกแบบโดยทฤษฎีระบบควบคุมจากนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ผลงานความต่างศักย์ของเซลล์สุริยะต่อแสงสีจากหลอดฟลูออเรสเซนต์และไดโอดเปล่งแสงจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และระบบเตือนภัยไร้สายอัจฉริยะ (Intelligent Wireless Module) จากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นต้น
ดร.ชัชนาถฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของการสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรว่า “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร และได้อนุมัติงบประมาณให้กับ สวทช. เพื่อใช้ในการสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรหรือบ้านวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศได้มีสถานที่ที่ใช้ในการคิดค้น ค้นคว้า และฝึกฝนทักษะทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ”
อนึ่ง โครงการ JSTP มีเป้าหมายที่จะค้นหาเด็กและเยาวชน ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ให้เพิ่มพูนศักยภาพทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและต่อเนื่องจนสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ Technology Management Center (TMC) เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. โดยมีพันธกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานความรู้ในประเทศไทย โดยใช้การบริหารจัดการเทคโนโลยีโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ มีภารกิจหลักคือ การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา การนำงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาไปสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และบริการสู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่บ่มเพาะสถาบัน โครงการ และกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-1454-5087, 0-2564-7000 ต่อ 1478
E-mail: pr@tmc.nstda.or.th
www.tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ