กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--บีโอไอ
หน่วย BUILD บีโอไอหนุนเอสเอ็มอีไทย จับมือซีเอ็มพียักษ์ใหญ่ด้านงานแสดงสินค้า เปิดตัวงาน Subcon Thailand 2007 รวบรวมผู้รับช่วงการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 300 ราย ออกบูธแสดงศักยภาพการผลิตพร้อมเชิญบริษัทอุตสาหกรรมในเอเชียมาร่วมจับคู่เจรจาธุรกิจ
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมด้วย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัดและนายนิพัทธ์ ดิถีเพ็ญ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือระหว่างหน่วย BUILD บีโอไอ และซีเอ็มพี มีเดีย ในการจัดงาน Subcon Thailand 2007 ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2550 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยจะจัดควบคู่ไปกับงาน INTERMACH 2007 ซึ่งเป็นงานแสดงเครื่องจักรกลประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายสาธิตกล่าวว่า บีโอไอมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนและการรับช่วงการผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยBUILD ได้ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อมุ่งเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ลดการนำเข้า ยกระดับเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค
“งาน Subcon Thailand 2007 จะเป็นเวทีที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้พบกับผู้ซื้อชั้นนำในไทยและประเทศในเอเชีย จึงเป็นโอกาสที่ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่จะได้ดำเนินธุรกิจร่วมกัน ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะได้นำเสนอศักยภาพการผลิตพร้อมทั้งขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆที่น่าสนใจอีกด้วย นับเป็นอีกกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ผลจากการจัดกิจกรรมของหน่วย BUILD อาทิ การจัดโครงการผู้ซื้อพบผู้ขาย กิจกรรมตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน การให้บริการข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วน ตลอดจนการจัดนิทรรศการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จากการสำรวจของสถาบันรับรองมาตรฐาน ISOพบว่ามีการซื้อขายชิ้นส่วนที่เกิดจากการจัดกิจกรรมของหน่วย BUILD ตั้งแต่ ปี 2544 ถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท
งาน Subcon Thailand 2007 ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รวบรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยจากทั้ง 4 สมาคมอุตสาหกรรมประกอบด้วย อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ หล่อโลหะ รับช่วงการผลิต และโลจิสติกส์ ตลอดจนผู้รับช่วงการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้าร่วมออกบูธจำนวนถึง 300 ราย รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนของไทยที่มีคุณภาพสามารถสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจและช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย อันจะก่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้ามากขึ้น
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ทั้งในเอชียและยุโรป มาร่วมจับคู่ทางธุรกิจประมาณ 100 ราย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน นอกจากการจัดแสดงสินค้าของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยแล้ว ยังมีการจัดแสดงสินค้าที่ต้องการจัดซื้อจากบริษัทผู้ซื้อชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ (Buyers’ Village) การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (Business Matchmaking program) เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Industrial Clinic) การจัดสัมมนาเชิงวิชาการ เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงกิจกรรมการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีเทคโนโลยีสูงขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้