กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
จากรายงาน “ภูเก็ต พร็อพเพอร์ตี้ รีพอร์ต” ฉบับล่าสุด โดยฝ่ายวิจัย ของ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย ซึ่งทำการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เป็นจุดพลิกผันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตในด้านการปรับตัวของราคาและปริมาณการซื้อขาย เนื่องจากภาวะขาขึ้นที่มีมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้หยุดชะงัก อันเป็นผลมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และการเปิดโครงการใหม่ลดลงเป็นอย่างมาก ในขณะที่การล้มเลิกโครงการก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นายเดวิด ซีมิสเตอร์ ประธานบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย กล่าวว่า “โดยปกติ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูเก็ตเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยชาวต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยว แขกที่เข้าพักในโรงแรม และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น”
“ในขณะที่ภาวะชะลอตัวของตลาด ซึ่งทรุดหนักลงจากการที่สนามบินต่าง ๆ ถูกปิด เห็นได้ชัดในช่วงเดือนธันวาคมที่ปริมาณการจองห้องพัก ปริมาณนักท่องเที่ยว และปริมาณผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตลดจำนวนลงอย่างรุนแรง แต่เราก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าตลาดภูเก็ตจะพังลงอย่างรวดเร็วเหมือนในสเปนหรือฟลอริดา เพราะตลาดภูเก็ตมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างจากตลาดบ้านพักตากอากาศแห่งอื่นในโลก”
โดยส่วนใหญ่ โครงการในภูเก็ตที่การก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถสร้างยอดขายได้เกือบหมด ทำให้มีจำนวนบ้านพักตากอากาศที่เสนอขายมีจำนวนที่จำกัด จากรายงาน “ภูเก็ต พร็อพเพอร์ตี้ รีพอร์ต” ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตเชิงลึกรายไตรมาสที่ซีบี ริชาร์ด เอลลิส จำหน่ายผ่านการสมัครสมาชิกให้แก่ผู้ที่สนใจในการพัฒนาโครงการบ้านพักตากอากาศในภูเก็ต ในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย ได้แสดงให้เห็นว่า วิลล่าเกือบ 3,000 หลังที่การก่อสร้างแล้วเสร็จมียอดขายแล้ว 89% ในขณะที่ตัวเลขของตลาดคอนโดมิเนียมก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยคอนโดมิเนียมราว 2,000 ยูนิตในโครงการที่แล้วเสร็จ สามารถปิดการขายได้แล้วถึง 92%
นอกจากนี้ นายเดวิดยังได้ให้ความเห็นว่า ภูเก็ตอยู่ในฐานะที่เป็นตลาดที่มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดบ้านพักตากอากาศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นสถานที่ตากอากาศชั้นนำของภูมิภาค ด้านอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนบ้านพักตากอากาศใหม่ก็จะลดลง เพราะความล่าช้าและการล้มเลิกโครงการ ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อภูเก็ตในระยะยาว
“ก่อนหน้านี้ เราได้ประเมินไว้ว่าจะมีคอนโดมิเนียมมากถึง 1,700 ยูนิตที่จะแล้วเสร็จในปี 2552 นี้ แต่เราเชื่อว่าจะมีบางโครงการที่ล่าช้าออกไป เนื่องจากมีอัตราการซื้อขายลดลง เช่นเดียวกันกับตลาดวิลล่า เราพบว่า เพียงแค่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีโครงการวิลล่ามากกว่า 10 โครงการ ซึ่งมีวิลล่ารวมกันมากกว่า 450 หลังต้องหยุดชะงักหรือล่าช้าออกไป ในขณะที่ห้องพักในโรงแรมหรูราว 1 ใน 4 ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างนั้นต้องหยุดชะงักเช่นเดียวกัน” นายนาบีล ฮัสเซน ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทยกล่าว
นับตั้งแต่ต้นปี 2552 ซีบี ริชาร์ด เอลลิสสังเกตเห็นถึงปัจจัยบวกบางประการ ซึ่งได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดบ้านพักตากอากาศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และการที่ธนาคารไม่ได้มีปัญหาจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการล่มสลายของตลาดในประเทศอื่น ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมของเกาะภูเก็ตได้ชัดเจน คือการที่โรงแรมอิบิส ป่าตอง มีอัตราการเข้าพักเต็ม 100% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงหลังจากหมดฤดูท่องเที่ยวแล้ว
นายเดวิดกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในระยะยาว เรายังคงมีความมั่นใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เพราะเราเชื่อว่า ผู้ซื้อในตลาดระดับลักชัวรี่และระดับไฮเอนด์มักจะเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิต มากกว่าคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลัก แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระดับราคาดังกล่าวจะยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น เราเห็นว่า ผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อ ซึ่งสามารถลงทุนอย่างรอบคอบและได้รับผลกระทบไม่มากนัก จะยังคงให้ความสนใจอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ”
“ผลการวิจัยของเราได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภท และแต่ละระดับราคาบนเกาะภูเก็ตจะมีความแตกต่างกัน สำหรับนักวิเคราะห์ ภูเก็ตเป็นตลาดเดียวที่มีความน่าเชื่อถือ และมีปริมาณการซื้อขายมากพอที่จะทำให้มองเห็นถึงอนาคตของตลาดบ้านพักตากอากาศในภูมิภาคเอเชียได้” นายเดวิดกล่าวสรุป