ปตท. ลงนาม MOU พัฒนาไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ร่วมกับ ทักษิณปาล์ม - ไบโอเอ็นเนอยี พลัส

ข่าวทั่วไป Thursday August 3, 2006 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ปตท.
กระทรวงพลังงานเร่งสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินเครื่องไบโอดีเซลเต็มสูบ หลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม MOU ระหว่าง ปตท. ทักษิณปาล์ม และ ไบโอเอ็นเนอยี พลัส เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการไบโอดีเซล ตามนโยบายการพัฒนาไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิต “ไบโอดีเซล” ยืนยันส่งเสริมวัตถุดิบที่มีในประเทศก่อน เพื่อพัฒนาเกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน และร่วมกันนำทรัพยากรพืชผลมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน
นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ในเรื่องการพัฒนาไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันในประเทศ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 350,000 ลิตรต่อวันหรือ 10.5 ล้านลิตรต่อเดือน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ไขปาล์ม และน้ำมันปาล์มดิบ มีการจำหน่ายผ่านสถานีบริการของ ปตท. และบางจากรวม 35 สถานี ยอดจำหน่ายรวมประมาณ 113,000 ลิตรต่อวัน หรือ 3.4 ล้านลิตรต่อเดือน (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2549) และมีนโยบายที่จะผลักดันให้เปิดสถานีบริการไบโอดีเซลจำนวน 200 สถานี ภายในปี 2549 ด้านการส่งเสริมไบโอดีเซลระดับชุมชนนั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดไบโอดีเซลชุมชนให้ได้ 70 ชุมชนภายในสิ้นปี 2549 นี้ ซึ่งจะมีกำลังผลิตรวม 7,000 — 21,000 ลิตรต่อวัน จากวัตถุดิบที่หาได้ภายในชุมชน ได้แก่ น้ำมันพืชใช้แล้ว น้ำมันปาล์ม และสบู่ดำ โดยจะทดแทนน้ำมันดีเซลสำหรับใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรประมาณ 2 ล้านลิตรต่อปี
สำหรับการลงนาม ข้อตกลงความร่วมมือเบื้องต้น (MOU) ในวันนี้ (3 ส.ค. 49) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับ บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด และ ปตท. กับ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี พลัส จำกัด เพื่อร่วมกันศึกษาการผลิตไบโอดีเซลขนาดกำลังผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน และ 200,000 ลิตรต่อวัน ตามลำดับ โดยใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล โดยความร่วมมือดังกล่าวเมื่อรวมกับไบโอดีเซลจำนวน 600,000 ลิตรต่อวัน ที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอลของบริษัทในเครือบริษัท ปตท. เคมีคอลฯ แล้วจะทำให้มีกำลังผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์เฉพาะบริษัทในกลุ่ม ปตท. เองประมาณ 1.1 ล้านลิตร/วัน ซึ่งกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าจะเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้การพัฒนาไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ให้เร็วขึ้นและจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านการ
ส่งเสริมและพัฒนาไบโอดีเซลรวมทั้งจะเป็นรูปแบบตัวอย่างและแนวทาง ให้ภาคเอกชนหรือผู้ที่มีความสนใจ ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น นอกจากนี้ โรงงานดังกล่าวยังจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาของผลปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มภายในประเทศในระยะสั้น และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศ 4 ล้านไร่ ภายในปี 2552 อีกทั้งยังมีผลพลอยได้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอลต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูงได้อีกด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. จะร่วมกับ บริษัท ทักษิณ ปาล์ม (2521) จำกัด และ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี พลัส จำกัด ทำการศึกษาการผลิตเมทิลเอสเตอร์ (Methyl Ester) จากปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ ปตท. มีศักยภาพในการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลได้อย่างเต็มที่ ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยความร่วมมือกับบริษัททักษิณปาล์มฯ เป็นการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล B100 ขนาด 300,000 ลิตรต่อวันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2551 ส่วนความร่วมมือกับ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี พลัสฯ เป็นการสร้างโรงงานไบโอดีเซล B100 ขนาด 200,000 ลิตรต่อวัน ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้ไขปาล์ม (Stearin) จากโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ มีกำหนดแล้วเสร็จต้นปี 2550 รวมกำลังการผลิต B100 จากทั้ง 2 โครงการเท่ากับ 500,000 ลิตรต่อวัน และเมื่อรวมกับกำลังการผลิตของ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) บริษัทในกลุ่มของ ปตท. อีก 600,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ก็จะมีกำลังผลิตถึง 1.1 ล้านลิตรต่อวัน สามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล B5 ได้ถึง 22 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับจำหน่ายในตลาดไบโอดีเซลของ ปตท.ทั่วประเทศ (ขณะนี้ ปตท. มียอดจำหน่ายดีเซล 16 ล้านลิตรต่อวัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจำหน่าย B10 ในบางส่วน ก่อนการบังคับใช้ B10 ในปี 2555) ทั้งนี้ การผลิต B100 จำนวน 1.1 ล้านลิตรสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่าถึง 8,100 ล้านบาทต่อปี (ถ้าสามารถผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอย่างเพียงพอ) และสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 6,500 ล้านบาทต่อปี นับเป็นการเป็นการเชื่อมโยงและสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตรและพลังงานเข้าด้วยกันบนพื้นฐานการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน และนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดเพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คุณประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้เป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของ ปตท. ในอันที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงการไบโอดีเซลต่อจากโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. เคมิ-คอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย คาดว่าจะสามารถดำเนินการ ผลิตได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 สำหรับโครงการไบโอดีเซลที่ร่วมพัฒนากับบริษัท ทักษิณ ปาล์ม (2521) จำกัด และ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี พลัส จำกัด ก็เช่นกัน ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจปิโตรเลียม ปตท.มีความมั่นใจว่า จะสามารถดูแลให้ผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลของทั้งสองโครงการมีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้บริโภคและบริษัทผลิตยาน-ยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาไบโอดีเซลมีความยั่งยืน นอกจากนั้น ปตท. ยังมีโครงการระยะยาวในการพัฒนาไบโอดีเซลอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การปลูก รูปแบบ การบริหารจัดการอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การปลูกปาล์ม โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซลและธุรกิจต่อเนื่อง ตลอดจนการจำหน่ายไบโอดีเซล เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของประเทศ โดย ปตท.ได้ร่วมศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นกับกลุ่มพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างจัดหาพื้นที่สำหรับโครงการประมาณ 50,000 — 60,000 ไร่
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 0-2224-7232
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 0-2537-2159-60

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ