GSP เพิ่มแต้มต่อฝ่าวิกฤตส่งออก

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2009 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศผู้ให้ สิทธิ GSP ปี 2551 มีมูลค่า 137,540.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ตลาดส่งออกที่ให้สิทธิ GSP แก่ไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ตุรกี รัสเซีย และนอร์เวย์ รวม 34 ประเทศ ประเทศไทยได้ส่งออกภายใต้สิทธิ GSP มีมูลค่ารวม 12,662.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 ลดลง ร้อยละ 2.94 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 13,046.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังประเทศผู้ให้สิทธิส่วนใหญ่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 -27 ยกเว้นญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เนื่องจากไทยทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ทำให้ผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิภายใต้ JTEPA แทน ส่วนสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิสินค้าเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า เครื่องรับโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2550 ประเทศที่ใช้สิทธิสูงอันดับหนึ่ง ได้แก่ สหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 28) โดยสหภาพยุโรปให้สิทธิแก่สินค้าทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับกลุ่มสินค้าไม่อ่อนไหว (non —Sensitive Product) เช่น เครื่องปรับอากาศ เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง เป็นต้น และลดหย่อนภาษี 3.5 ของอัตราภาษีปกติ สำหรับสินค้ากลุ่ม สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Product) เช่น กรดเทเรฟทาลิก สับปะรดกระป๋อง รองเท้า เป็นต้น ส่วนสหรัฐฯ จะยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการที่ได้รับสิทธิ GSP สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยางเรเดียล เลนส์แว่นตา เครื่องประดับทำจากโลหะเงิน กรดเทเรฟทาลิก สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ กุ้งแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง รองเท้า และอาหารปรุงแต่ง นางอภิรดี ตันตราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกโดยรวมของประเทศ ดังนั้น การได้รับสิทธิ GSP จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาด ไว้ได้ ผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ยังคงได้รับอยู่ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต และลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการส่งออก และพยายามหาตลาดใหม่เพื่อขยายฐานการส่งออก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยลดการพึ่งพา GSP ซึ่งนับวันจะลดน้อยลง ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0 2547 4872 โทรสาร 0 2547 4816 สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือที่ www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ