กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ข้าราชการ ทหาร ลูกจ้าง สังกัดกองทัพเรือ จึงพร้อมใจกันใส่ชุดขาวอันเป็นเอกลักษณ์ของทหารเรือ ทั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าตราบเท่าทุกวันนี้
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด นับลำดับเป็นราชสกุลวงศ์พระองค์ที่ ๒๘ หลังเกิด วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เมื่อเรือรบฝรั่งเศสตีฝ่าการป้องกันบริเวณปากแม่น้ำเข้ามาแสดงกำลังในแม่น้ำเจ้าพระยา และทำการปิดอ่าวเพื่อบังคับให้ประเทศไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามความต้องการของฝรั่งเศส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงถึงความอ่อนแอของกำลังทางเรือที่ไม่สามารถปกป้องเอกราช และอธิปไตยของชาติได้อย่างแท้จริง เนื่องด้วยต้องอาศัยชาวต่างประเทศเป็นหลักด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก จึงโปรดให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อนำวิชาการความรู้มาพัฒนากองทัพเรือต่อไป ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฎอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และทรงพระจริยวัตรที่งดงาม เป็นที่รักใคร่ของครูอาจารย์เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวอังกฤษที่ได้ศึกษาอยู่ในคราวเดียวกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในราชนาวีอังกฤษแล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ รับพระราชทานพระยศเป็น "นายเรือโท ผู้บังคับการ" ในตำแหน่งนายธงผู้บัญชาการ กรมทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือ ให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ความชำนาญ สามารถเป็นครูและเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ ในปีต่อมาทรงมีพระดำริในการจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกล เพื่อรับผิดชอบเครื่องจักรในเรือและในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระองค์ได้ กราบบังคมทูล ขอพระราชทานที่ดินพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และหน่วยกำลังรบต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มาจนถึงปัจจุบัน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษ ให้ดำเนินการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงอันเป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย ณ ภาคพื้นยุโรป ทั้งยังทรงเป็นผู้บังคับการเรือที่มีลูกเรือเป็นชาวต่างประเทศและนำเรือหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษกลับสู่พระนคร ถือเป็นนายทหารเรือไทยคนแรกที่ได้นำเรือรบเดินทางไกลมาจากต่างประเทศ
นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านกิจการทหารเรือแล้ว ทรงมุ่งมั่นศึกษาเกี่ยวกับตำราแพทย์แผนโบราณ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้มากมายจนพระเกียรติคุณในนามของ "หมอพร" ขจรขจายไปในทุกชนชั้น ทรงเชี่ยวชาญด้านศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหาผู้ประฝีมือได้ยาก และทรงเป็นจิตรกร เขียนภาพลายไทย ที่งามวิจิตร ดังปรากฏภาพฝีพระหัตถ์ที่ผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถอีกประการหนึ่ง คือ การแต่งเพลง ทรงนิพนธ์บทเพลงไว้หลายเพลง อาทิ เพลงดอกประดู่และเพลงเดินหน้า ซึ่งถือเป็นมรดกของพระองค์ที่แนบแน่นอยู่ในใจของทหารเรือ มาจนทุกวันนี้
พระกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือมีความสำคัญ และส่งผลให้กองทัพเรือ มีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้เป็นอย่างดีสืบต่อมา
นอกจากวันที่ ๑๙ ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติขององค์บิดาของทหารเรือไทยแล้ว กองเรือยุทธการยังถือเป็นวันสถาปนาหน่วยอีกด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในอดีต กองทัพไทยไม่มีการจัดเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ อย่างเช่นปัจจุบัน เมื่อยกทัพไปทางบก ก็เรียกว่าทัพบก และหากยกทัพไปทางเรือ ก็เรียกว่าทัพเรือ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังฝ่ายทหารเรือได้แบ่ง ออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ คือ
๑. กรมเรือพระที่นั่งเวสาตรี ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง และเรือหลวงที่ไม่ได้ติดอาวุธ เรือกลเล็ก และกองทหารนาวิกโยธิน (กองทหารมารีน) ขึ้นต่อกรมแสง
๒. กรมอรสุมพล ประกอบด้วยเรือรบที่ติดอาวุธขึ้นต่อกรมพระกลาโหม
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้มีประกาศให้กำลังทหารเรือทั้ง ๒ หน่วย คือ กรมเรือพระที่นั่งเวสาตรี และกรมอรสุมพล รวมกันเป็น "กรมทหารเรือ" ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ซึ่งบังคับบัญชาทั้งทหารบก และ ทหารเรือ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้แยกกรมทหารเรือ ออกจากกรมยุทธนาธิการมาครองอิสระขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๖๖ ได้มีการจัดตั้งหน่วยที่มีหน้าที่ควบคุมเฉพาะเรือรบขึ้นมาใหม่เรียกว่า "กองทัพเรือ" ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองเรือรบ"และในที่สุดเป็น "กองเรือยุทธการ" กองเรือยุทธการจึงได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาหน่วย ตราบเท่าทุกวันนี้
(ข้อมูล: ที่มา กร. และ สูจิบัตรวันอาภากร)