ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “ธ. เกียรตินาคิน” เท่าเดิมที่ “A-/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday February 3, 2006 09:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (KK069A, KK079A, KK073A, KK087A)ของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร ความสามารถในการขยายธุรกิจใหม่เพื่อทดแทนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อย
คุณภาพที่มีขนาดลดลงเรื่อยๆ ตลอดจนการมีฐานะเงินกองทุนและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงประโยชน์จากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จะทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้นและมีโอกาสในระยะยาวในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของธนาคารมีข้อจำกัดจากการมีมูลค่าและเครือข่ายทางธุรกิจที่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และปัญหาคุณภาพสินเชื่อสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการทำกำไรเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเงินกองทุนในระดับเพียงพอที่จะช่วยปกป้องธนาคารจากความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ นอกจากนี้ สถานภาพใหม่ในฐานะธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะช่วยเพิ่มระดับความยืดหยุ่นทางการเงินและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธนาคารจากขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้นของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารเกียรตินาคินได้นำประสบการณ์และความชำนาญในการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงทางด้านเครดิตของผู้ประกอบการโครงการที่อยู่อาศัยขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นธุรกิจใหม่ที่เป็นแหล่งรายได้เพิ่มให้แก่ธนาคารในขณะที่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ธนาคารบริหารอยู่จะค่อยๆ หมดไปภายใน 2 ปีข้างหน้า
ด้วยความชำนาญในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทำให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วใน ช่วงระหว่างปี 2547 และ 9 เดือนแรกของปี 2548 ณ เดือนกันยายน 2548 สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วน 50% และ 41% ของสินเชื่อรวมของธนาคารตามลำดับ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลงมีผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อก่อสร้างของธนาคาร และนำมาซึ่งการถดถอยลงอย่างต่อเนื่องของคุณภาพสินเชื่อ จากการที่ธนาคารเน้นให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารของธนาคารจึงมีนโยบายในการรักษาเงินกองทุนและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ