กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน ๕๐ จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก แจ้งเตือนประชาชนและเกษตรกรเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน ในระหว่างวันที่ ๗-๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งสั่งกำชับมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯในพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วงวันที่ ๗-๑๐ เมษายนนี้ จะมีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เป็นสาเหตุให้เกิดพายุฤดูร้อนได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานให้ ๕๐ จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมการป้องกันอันตรายจากสภาวะอากาศแปรปรวน และพายุฤดูร้อนที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในระยะ ๓-๔ วันนี้
(วันที่ ๗-๑๐ เมษายน ๒๕๕๒) พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที รวมทั้งสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนรวมทั้งรายงานข้อมูลสถานการณ์ภัยให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ริมสองข้างทาง หากพบว่าไม่ปลอดภัย ให้ดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย หากสถานการณ์รุนแรง ให้จัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องจักรกลเข้าควบคุมสถานการณ์ในทันที
นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง ๕๐ จังหวัด ติดตามพยากรณ์อากาศและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อน โดยดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ เสาไฟฟ้าที่อยู่บริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ตัดต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรง เพราะอาจหักโค่นมาทับบ้านเรือน ตลอดจนจัดเก็บสิ่งที่สามารถปลิวได้ในที่มิดชิด โดยเฉพาะในขณะที่เกิดพายุ ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง ไม่หลบพายุใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ให้หลบในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งอยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด งดใช้เครื่องมือสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกร ให้ดูแลและจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป