กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้และสรุปโครงการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity Improvement) ของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือโครงการสร้างต้นแบบการพัฒนาประสิทธิภาพภายในองค์กรด้วยการเพิ่มผลผลิต โดยมีนายอนันต์ สุวรรณปาล รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 250 คน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
นายอนันต์ สุวรรณปาล รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานเปิดการสัมมนา กล่าวว่า “โครงการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity Improvement) ของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือโครงการสร้างต้นแบบการพัฒนาประสิทธิภาพภายในองค์กรด้วยการเพิ่มผลผลิต ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพ SMEs ที่สำคัญ เพราะการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs โดยการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) ตามแนวทางที่เป็นระบบและยั่งยืน จะทำให้สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ SMEs ให้สามารถพึ่งตนเอง ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“อย่างไรก็ตามการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้บริหารของสถานประกอบการจะต้องให้ความสำคัญและมีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพภายในองค์กร เมื่อรวมกันจะกลายเป็นผลิตภาพของอุตสาหกรรม และส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตของประเทศต่อไป” นายอนันต์กล่าว
นายสมชาย หาญหิรัญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan หรือเงินกู้ SAL) ในวงเงิน 17 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ตอบสนองโดยตรงต่อแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม หรือแผนแม่บท Productivity ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดการผลิต การจัดการมาตรฐานคุณภาพ และการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 48 บริษัท ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ครอบคลุม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นายสมชาย กล่าวต่อว่า “บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากการวัดผลเปรียบเทียบก่อนและหลังดำเนินโครงการ เช่น บริษัทสามารถลดต้นทุน และได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น มีการดำเนินงานเป็นระบบมากขึ้น เกิดความสูญเสียในกระบวนการผลิตลดลง ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น เครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ข้อร้องเรียนจากลูกค้าลดลง ส่งมอบสินค้าได้ทันเวลามากขึ้น เป็นต้น”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2619-5500 แผนกประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ