กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ที่ระดับ ‘BBB+’ แก่ตั๋วเงินอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Notes) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อายุ 3 ปี ซึ่งออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (“SCB” ที่มีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating ที่ระดับ ‘BBB+แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)
อันดับเครดิตดังกล่าว มีพื้นฐานมาจากสมมุติฐานเกี่ยวกับความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องมาจากส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากที่สูง ความสัมพันธ์ทางสถาบันที่แข็งแกร่ง และความสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจไทย อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารและตราสารหนี้ดังกล่าว สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นและน่าจะสามารถปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้นในปี 2549 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเมือง ฟิทช์กล่าวว่าระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนของธนาคารก็ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารพาณิชย์และทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับประโยชน์จากผลพวงความพยายามในการปฏิรูประบบธนาคารตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 โดยมีเครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย ในฐานะที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2548 ที่ 19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 18.6 พันล้านบาท ในปี 2547 (หรือจาก 13.6 พันล้านบาท เมื่อทำการปรับผลกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก) เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งขึ้น รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่สูงขึ้น และการกันสำรองหนี้สูญที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระดับ 3.2% ในปี 2548 จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดของบรรดาธนาคารไทย อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่าอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยและผลกำไรสุทธิของธนาคารอาจได้รับผลกระทบทางลบจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อและรายจ่ายทางด้านภาษีที่สูงขึ้นในปี 2549
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 64 พันล้านบาท หรือ 10.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2548 ลดลงจาก 76.6 พันล้านบาท หรือ 13.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2547 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิจำนวน 9.8 พันล้านบาทในปี 2548 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ที่ระดับน้อยกว่า 7% ภายในสิ้นปี 2549 ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารได้ลดลงมาที่ 54.7 พันล้านบาทเนื่องจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชีซึ่งระดับสำรองหนี้สูญนี้อยู่ที่ 85.5% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของธนาคารไทย อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 10.5% ณ สิ้นปี 2548 จาก 16.5% ณ สิ้นปี 2547 ชี้ให้เห็นถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ณ สิ้นปี 2548 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 11.9% ของสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 15.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง ฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงการจ่ายเงินปันผลและการเติบโตของสินทรัพย์แล้ว ในขณะที่ธนาคารประมาณการว่าธนาคารจะต้องการเงินทุนเพิ่มเติมอีก 4-5 พันล้านบาทเพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานภายใต้แนวทาง Basel II ใหม่นั้น ธนาคารคาดการณ์ว่าการเติบโตของผลกำไรของธนาคารจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานเงินกองทุนเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องทำการเพิ่มทุนจากการออกหุ้นใหม่
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากและสินเชื่อประมาณ 12% ณ สิ้นปี 2548 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 24% ธนาคารไทยพาณิชย์มีบริษัทย่อยและร่วมชั้นนำในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้ผู้บริโภค การดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจ การจัดการกองทุน และธุรกิจประกัน
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, สรสิทธิ์ วรรณประเสริฐ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน