กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สสวท.
กว่า 25 ปีแล้วที่โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มาช่วยพัฒนาประเทศ โดยได้ให้ทุนเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงปริญญาเอกและส่งเสริมการทำวิจัยระดับหลังปริญญาเอก
ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนของทุกปี กลุ่มนักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวของโครงการ พสวท. ที่จบการศึกษาไปแล้ว เรียกว่า พี่ “บัณฑิต พสวท.” รวมทั้งพี่ ๆ นักเรียนทุน พสวท. ที่กำลังศึกษาอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมารวมตัวกันเพื่ อจัดค่ายวิทยาศาสตร์รับขวัญรุ่นน้อง ม. ปลาย ที่ได้ทุนเดียวกัน
โดยในปีนี้ ทุกคนมานัดรวมพลกันในค่าย พสวท. ภาคฤดูร้อนระดับมัธยมศึกษา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม— 4 เมษายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ค่ายนี้มีนักเรียนทุน พสวท. ชั้น ม. 4 และ ม. 5 จากโรงเรียนที่เป็นศูนย์ระดับมัธยมศึกษา 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนศรีบุณยานนท์ พระปฐมวิทยาลัย สามเสนวิทยาลัย บดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แก่นนครวิทยาลัย หาดใหญ่วิทยาลัย และยุพราชวิทยาลัย ร่วมกิจกรรม รวมผู้จัดและเด็ก ๆ ที่มาเข้าค่ายกว่า 120 ชีวิต และที่สำคัญปีนี้มี ดร. คัมภีร์ พรหมพราย (พี่หนุ่ม) บัณฑิต พสวท. ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้แทนประเทศไทยเจ้าของรางวัลเหรียญทองแดงเคมีโอลิมปิก ปี 2537 เป็นประธานค่ายเสียด้วย
พี่หนุ่ม บอกกับเราว่า หน้าที่ของประธานค่ายในแต่ละปีก็คือ ประสานงานระหว่าง สสวท. พี่บัณฑิต พี่เลี้ยงค่าย และน้อง ๆ ชาวค่าย โดยค่ายนี้เน้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ของเชียงใหม่ เช่น ศึกษาวิทยาศาสตร์กับจิตรกรรมฝาผนังที่วัดอุโมงค์โดยมี อ. อติชาต เกตตะพันธุ์ รุ่นพี่ พสวท. จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่มาเป็นวิทยากร การศึกษาภูมิปัญญาชาวเชียงใหม่ที่ถนนคนเดิน ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเขา ศึกษาธรณีสัณฐานยอดดอยอินทนนท์
การดูดาวบนยอดดอยอินทนนท์โดยมี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รุ่นพี่ พสวท. เป็นวิทยากร การศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานโดยมีวิทยากรชาวบ้านเป็นผู้นำทาง การบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ พสวท. หลายท่าน เช่น ดร.คัมภีร์ ค้าแหวน ดร.ตฤณ อินทรประสงค์ ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ การแสดง Science Show และกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์น้องพี่ พสวท.
“พี่ๆ ทุกคนที่มาจัดค่ายให้น้อง ล้วนแต่มาด้วยใจทั้งสิ้น ทำให้ค่าย พสวท. มีกิจกรรมที่หลากหลาย การที่มีรุ่นพี่ที่จบปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์กว่า 10 คน มาช่วยจัดกิจกรรมค่ายให้แก่รุ่นน้อง ค่ายนี้จึงเป็นค่ายที่พิเศษมาก” พี่หนุ่มกล่าว
นอกจากพี่บัณฑิต พสวท. แล้ว รุ่นพี่ พสวท. ที่เรียนมหาวิทยาลัยซึ่งมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงค่าย พวกเขาเหล่านี้ล้วนแต่ผ่านกิจกรรมค่ายฤดูร้อนมาแล้วทั้งสิ้นเมื่อพวกเขายังเรียนชั้น ม. ปลาย
เมื่อพวกเขาได้มาเป็นพี่เลี้ยงค่ายจึงกลายเป็นเรี่ยวแรงที่แข็งขัน สร้างสีสัน นำกิจกรรมโหดมันฮาให้น้อง ๆ ได้ร่วมสนุกปนกับสาระทางวิทยาศาสตร์ เรียกรอยยิ้มจากรุ่นน้องได้มาก
ทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นในค่าย ล้วนแต่ถูกออกแบบมาอย่างดีว่า นอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ต้องได้ความรู้และความประทับใจทางวิทยาศาสตร์กลับไปด้วย โดยในปีนี้ชาวค่ายได้ร่วมบำเพ็ญประโยชน์ มอบสื่อการเรียนรู้และจัดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ให้แก่เด็กน้อยชาวเขา โรงเรียนบ้านขุนกลาง ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ด้วย
ท่ามกลางค่ำคืนที่หนาวเย็นบนดอย ได้มีกิจกรรมสำคัญที่กลายมาเป็นประเพณีสืบทอดทุกปีของค่าย พสวท. ภาคฤดูร้อน ก็คือ การรับขวัญน้อง ม. 4 ที่เพิ่งเข้ามารับทุนภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ทางวิทยาศาสตร์โครงการ พสวท. มาหมาด ๆ โดยรุ่นพี่ชาวค่ายได้ผลัดกันให้แง่คิดแก่น้อง แล้วผูกข้อมือ
ใต้เทียนแสงอันอบอุ่น ท่ามกลางบทเพลง ที่แต่งเนื้อร้องและทำนองโดยรุ่นพี่ พสวท. ซึ่งแน่นอนว่าสามารถสร้างความประทับใจให้แก่น้อง ม. 4 ได้เป็นอย่างดี ผ่านรอยยิ้มและน้ำตาอย่างปลาบปลื้ม
“สิ่งหนึ่งที่ประทับใจในตัวกลุ่มนักเรียนทุน พสวท. ก็คือ พวกเขารักใคร่ดี ไม่ว่าจะไปที่ไหน หรือทำงานอะไร พวกเมื่อพวกเขาได้เจอกัน ถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อได้ทราบว่าเป็นชาว พสวท. เหมือนกัน ก็จะช่วยเหลือกันอย่างดี กลายเป็นเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง” พี่วิจิตรา บุญเสริม (พี่จิตร) เจ้าหน้าที่จาก สสวท. ที่มาร่วมจัดค่ายครั้งนี้กล่าว
นายธนัท ตรีธารทิพย์เลิศ (น้องนัท) ชั้น ม. 4 โรงเรียนบดินทร์เดชา ฯ กรุงเทพมหานคร บอกว่า ประทับใจกิจกรรมทุกอย่างเลย ได้ความรู้หลายเรื่อง ผมชอบกิจกรรมภาคสนามมากๆ อยากให้มีกิจกรรมทางฟิสิกส์เยอะ ๆ เพราะผมสนใจเรียนวิชาฟิสิกส์มากเป็นพิเศษ และที่สำคัญได้รู้จักเพื่อน พสวท. จากศูนย์อื่น ๆ เยอะมาก
นางสาววงศ์ตะวัน ชำนาญ (น้องโมมายด์) ชั้น ม.4 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า กิจกรรมที่ชอบคือ การศึกษาธรณีสัณฐานยอดดอยอินทนนท์ ที่ดอยอินทนนท์อากาศเย็นดีค่ะ ได้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของกวางผา รู้จักพรรณไม้หลากหลายมากขึ้น ได้สนิทกับเพื่อน ๆ มากขึ้น และประทับใจพี่เลี้ยงค่ายและพี่บัณฑิตที่เขาเอาใจใส่เรามาก ทำให้อุ่นใจค่ะ นอกจากนั้นก็สนใจการใช้วิทยาศาสตร์ศึกษาร่วมกับโบราณคดีที่วัดอุโมงค์ ตอนนี้กำลังค้นหาตัวเองว่าสนใจวิทยาศาสตร์ด้านใด
นายชูเกียรติ นวลศรี (น้องบอส) ชั้น ม. 4 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา เดินทางจากเมืองใต้ขึ้นดอยเมืองเหนือแล้วบอกว่าสนุกมาก เพราะชอบธรรมชาติอยุ่แล้ว ธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์ดูแตกต่างจากภาคใต้ แปลกดีครับ ผมเจอแมลงอยู่ในต้นไม้โดยที่ต้นไม้ยังไม่ตาย สงสัยว่ามันอยู่ได้อย่างไร อย่างจะค้นคว้าต่อ สิ่งที่ชอบอีกอย่างได้แข่งกีฬาแชร์บอลลูกโป่งน้ำกับรุ่นพี่ ทีมผมชื่อทีม “ยังบลัด” ส่วนรุ่นพี่ได้ชื่อทีมว่าทีม “ยังอยู่” ครับ (5555) พิธีรับขวัญน้องก็ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นมากมาย
“ประโยชน์ที่ได้รับจากค่ายนี้มีมากมาย ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้ความสามัคคี ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และพบเจอพืชพรรรณแปลกๆ จากการเดินป่า ทำให้ได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มีประโยชน์เสมอ” น้องบอสบอก
นับว่าค่ายนี้นับว่าเป็นประตูบานแรกที่ให้น้อง ๆ ม .ปลาย ได้เห็นความงดงามของวิทยาศาสตร์ ความงดงามของการเข้ามาเป็นนักเรียนทุน พสวท. ได้เห็นความรักที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะยึดเหนี่ยวกันไว้กลายเป็นความผูกพัน และเป็นเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต