กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน
สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักและผลไม้ไทย พัฒนาระบบรับรองคุณภาพ ThaiGAP ให้เทียบเท่ามาตรฐาน GLOBALGAP เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกผักและผลไม้สดไทยไปยังสหภาพยุโรป ล่าสุดได้มีการแปลกฎระเบียบ ตีความ จุดควบคุม และเกณฑ์ความสอดคล้องของมาตรฐาน GLOBALGAP เป็นภาษาไทย และอยู่ในเว็บไซต์ www.globalgap.org แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ได้รับการอนุมัติการตีความมาตรฐานดังกล่าวเป็นให้ภาษาประจำชาติ นอกเหนือจากภาษาที่มีอยู่แล้ว คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ อิตาเลียน และสเปน
นายปฐม แทนขำ อุปนายก สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย กล่าวว่า “ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลเท่านั้นที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้มากกว่า ดังนั้นหากมาตรฐาน ThaiGAP สามารถเทียบเคียงกับ GLOBALGAP ได้ ก็จะเป็นการลดข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายและช่วยให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้น และยังสามารถเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าสูงทั่วโลกได้มากขึ้น ในปี 2551 ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปยังสหภาพยุโรปมีเพียงร้อยละ 16 และสหรัฐอเมริกาเพียงร้อยละ 4 ดังนั้นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก”
มร. จิม โทเมคโค ผู้อำนวยการ โครงการไทย-เยอรมันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) กล่าวว่า “GTZ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (PTB) ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานด้านการรับรองคุณภาพแห่งชาติ ในสาขาผักและผลไม้สด โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงในสหภาพยุโรปและได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนา ThaiGAP ให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับ GLOBALGAP โดยประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพในประเทศไทย ภายใต้การร่วมมือกันดังกล่าว ยังได้มีการจัดกิจกรรมนำร่องการทดสอบมาตรฐาน GLOBALGAP Option 2 ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบกลุ่ม ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อย 3 กลุ่ม ในจังหวัดนครปฐม จันทบุรีและระยอง รวมทั้งชุมพร ได้รับการรับรองมาตรฐาน GLOBALGAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ทาง GTZ กำลังดำเนินโครงการขยายผล GLOBALGAP Option 2 ไปสู่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มอีก 10 กลุ่มซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 160 รายต่อไป”
มร. คริสเตียน โมลเลอร์ กรรมการผู้จัดการ GLOBALGAP กล่าวว่า “แนวโน้มความต้องการสินค้าอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาให้ความใสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในกรณีที่ต้องการเทียบเคียงมาตรฐานของประเทศนั้นๆ กับมาตรฐาน GLOBALGAP จึงได้มีการผ่อนผันกฎระเบียบบางประการเพื่อให้เกษตรกรในประเทศเหล่านั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”
GTZ เป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย
Tel. 02 661 9273 ext. 13
อีเมล์ siriporn.treepornpairat@gtz.de