ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดแผนยุทธศาสตร์ระยะปานกลาง 3 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday August 24, 2006 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินแผนยุทธศาสตร์ระยะปานกลาง 3 ปีกำหนด 3 แนวทาง 8 แผนกลยุทธ์ เน้นเป็นตลาดรองที่ครบวงจร มีสินค้าครบถ้วน หลากหลายและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน และพร้อมมุ่งสู่การเป็นตลาดทุนที่สำคัญของ ภูมิภาค โดยเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดทุนไทยเป็น เป้าหมายการลงทุนของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกันประชุมกำหนดกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระยะปานกลาง 3 ปี (ปี 2550 — 2552) และได้นำเสนอเป็นแผนยุทธศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯแก่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2549 และได้รับความเห็นชอบด้านการกำหนด Positioning ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อใช้กำหนดแนวทางแผนปฏิบัติงานระยะปานกลางใน 3 ปีข้างหน้า
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 3 แนวทางจะพัฒนาสู่การเป็นตลาดรองที่ครบวงจร มีสินค้าครบถ้วน หลากหลาย และมีคุณภาพ พร้อมมุ่งสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์สำคัญของภูมิภาค โดยพร้อมที่จะมีการสร้างร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างความสามารถของผู้เกี่ยวข้องในระดับสากล ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดแผนกลยุทธ์สำคัญ (strategic agenda) 8 แผน เพื่อให้บรรลุผลที่ได้ตั้งไว้โดยคำนึงถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก การเชื่อมโยงธุรกรรมและระบบการทำงานระหว่างตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาคุณภาพและความน่าสนใจให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในสายตาของนักลงทุนจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” นางภัทรียากล่าว
แผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้มีสาระสำคัญ 3 ด้านหลัก โดยในด้านการเป็นศูนย์การลงทุนที่ครบวงจรหรือการเป็น Integrated Market โดยมี 2 แผนกลยุทธ์สำคัญได้แก่ จะเน้นออกตราสารใหม่ที่ครบวงจรและตรงกับความต้องการของผู้ลงทุนอย่างแท้จริง รวมถึงเน้นเพิ่มความน่าสนใจในแต่ละตราสารและการให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสะดวก โดยการรวมระบบโครงสร้างพื้นฐานของทุกตราสารไว้ที่เดียวกัน
นางภัทรียากล่าวว่า “ทางด้านอุปทานนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ มิได้มุ่งเน้นตราสารทุนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังมุ่งพัฒนาสินค้าประเภทอื่นๆ ทั้งตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ และนวัตกรรมทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุน เช่น Exchange Traded Fund (ETF), Capital guaranteed products, Securities Borrowing & Lending (SBL) เป็นต้น โดยในระยะถัดไป นอกจากจะเพิ่มจำนวนของสินค้าใหม่ให้มากขึ้นแล้ว ยังมุ่งดูแลสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นสินค้าที่น่าลงทุนและมีสภาพคล่องในการซื้อขาย พร้อมกันนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯจะรวมศูนย์ระบบงานต่างๆของทุกตราสารไว้ที่เดียวกัน (Integrated trading platform) พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบข้อมูลของทุกตราสาร เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลของตราสารทุกประเภทได้อย่างสะดวกจากจุดเดียวกัน พร้อมทั้งจะมีการการเชื่อมโยงระบบซื้อขายของตราสารแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน และจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฏเกณฑ์ให้ผู้ลงทุนสามารถใช้บัญชีเดียวหรือ single account ที่สามารถซื้อขายตราสารทุกประเภทได้โดยไม่ต้องเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายตราสารแต่ละประเภทเช่นในปัจจุบัน”
สำหรับการมุ่งสู่การเป็นตลาดหุ้นที่สำคัญของภูมิภาคนั้น มี 2 แผนกลยุทธ์สำคัญเพื่อยกระดับมาตรฐานกฎเกณฑ์ต่างๆใน แนวทางสากลให้ทัดเทียมกับตลาดทุนอื่น ๆ ในภูมิภาคโดยจะมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนทั้งรายบุคคล ผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สามารถซื้อขายตราสารต่าง ๆ ผ่านช่องทางที่สะดวกมากขึ้น ทั้งทางอินเทอร์เน็ต การเปิดช่องทางส่งคำสั่งซื้อขายตรง หรือDirect Market Access (DMA) เป็นต้น พร้อมทั้ง จะมีการปรับปรุงและยกระดับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมในการทำธุรกรรม โดยเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี การยกระดับมาตรฐานบัญชีเป็นระดับสากล (International Financial Reporting Standards: IFRS) การเปิดเผยข้อมูลและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมุ่งหวังการยกระดับมูลค่าตราสารในตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ
ในด้านของเพื่อความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 4 แผนกลยุทธ์สำคัญครอบคลุมการสร้างพันธมิตรทั้ง ธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงผู้เกี่ยวข้องสำคัญกับตลาดทุน
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานอาจให้ลูกค้าบุคคลสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ได้ผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์และร่วมผลักดันกฎระเบียบที่ยังเป็นข้อจำกัด และเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพิจารณาถึงการสร้างความพร้อมในเรื่องความร่วมมือกับตลาดทุนอื่นๆทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ร่วมและการเชื่อมโยงในมิติอื่นๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
โดยทั้งนี้ การพัฒนาตลาดทุนไทยยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลในด้านต่างๆ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจะยังคงการผลักดันนโยบายสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบายการออมภาคบังคับ (กบช.) เป็นต้น
อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงทำงานร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และมหาวิทยาลัยต่างๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็จะมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรใหม่ ได้แก่ หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างครบถ้วนทั้ง อุปสงค์ อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนไทย
“คณะผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ระยะปานกลาง 3 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น และก้าวสู่การเป็นตลาดที่ครบวงจร มีสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน และเป็นตลาดหลักทรัพย์เป้าหมายที่ผู้ลงทุนจะให้ความสำคัญ และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนมากขึ้นและต่อเนื่องต่อไปในอนาคตได้
สำหรับการทำงานต่อจากนี้ไป คณะผู้บริหารจะนำทิศทางการดำเนินงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการไปจัดทำแผนการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในระยะปานกลาง การเสริมสร้างศักยภาพที่ยังขาดแคลน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป” นางภัทรียากล่าวสรุป
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229 — 2036/ กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037 /
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049/วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ