สรุปภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ปี ’49 และแนวโน้มปี ’50

ข่าวทั่วไป Tuesday December 19, 2006 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพมหานครในปี 2549 ประสบกับปัจจัยลบและความท้าทายหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
ตลาดอาคารสำนักงาน โรงแรม ค้าปลีก อพาร์ตเม้นต์ และ เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ ดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากอุปทานนตลาดดังกล่าวมีจำนวนจำกัด ในขณะที่ตลาดบ้านและธุรกิจอุตสาหกรรมต้องประสบกับภาวะถดถอย เนื่องจากความเชื่อมั่นของทั้งภายในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่วนคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดียังคงมีผลประกอบการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพ ฯ ในปี 2550 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านยอดขายก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวดีขึ้นไปอีก หากมีการปรับปรุงแก้ไขกฏเกณฑ์ข้อบังคับในเรื่องภาษี การให้วีซ่า และการถือครองกรรมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติในโครงการประเภทที่พักอาศัย และจะยิ่งดีมากยิ่งขึ้น หากมีมาตรการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ และลดปัญหาความซ้ำซ้อนซึ่งเป็นอุปสรรคในตลาดธุรกิจอุตสาหกรรม”
ตลาดที่พักอาศัยประเภทบ้าน
ในปี 2549 ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์หลายรายมุ่งให้ความสนใจกับตลาดระดับล่าง ซึ่งมีราคาต่อ ยูนิตไม่สูงมากนัก อาทิ ทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวราคาต่ำกว่า 5 ล้าน โดยปริมาณการจดทะเบียนทาวน์เฮ้าส์ใหม่เพิ่มสูงขึ้น 127.0% ต่อปี และ5.9% ต่อปีสำหรับบ้านเดี่ยวที่จดทะเบียนใหม่ ทว่า ปริมาณบ้านจัดสรรที่จดทะเบียนใหม่กลับลดลงถึง 24%
ผลประกอบการของผู้พัฒนาโครงการในตลาดบ้านโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการนำเสนอแคมเปญทางการตลาดที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโครงการระดับล่างและระดับกลาง เพื่อกระตุ้นยอดขายในปีช่วงปลายปี 2549
นางสาวอลิวัสสากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2550 ตลาดบ้านจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองที่นิ่งมากขึ้น รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดการณ์ว่า ผู้ประกอบ การหลายรายจะยังคงมุ่งให้ความสนใจกับตลาดระดับล่างและกลางต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในปี 2550
ตลาดที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม
ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพ ฯ มีอัตราการเติบโตที่ลดลงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2549 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ทว่าตลาดค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงสิ้นปี
ปริมาณคอนโดมิเนียมโดยรวมในย่านใจกลางเมืองปี 2549 เพิ่มขึ้น 11.8% หรือ 5,048 ยูนิต เปรียบเทียบกับปี 2548 ที่เพิ่มขึ้น 12.4% โดยคอนโดมิเนียมใหม่ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมระดับล่าง (ราคาต่ำกว่า 60,000 บาท ต่อตารางเมตร) คิดเป็น 36.8% ตามมาด้วยคอนโดมิเนียมระดับกลาง (ราคา 60,000 — 80,000 บาท ต่อตารางเมตร) 23.8% คอนโดมิเนียมระดับหรู (ราคา 85,000 — 95,000 บาท ต่อตารางเมตร) 22.8% และคอนโดมิเนียมระดับบน (100,000 บาท ต่อตารางเมตร หรือมากกว่า) 16.6% ด้านอัตราการเข้าพักอาศัยโดยเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่แล้วเสร็จในย่านใจกลางเมืองปี 2549 พบว่า ลดลงเล็กน้อยจากเมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 84.0% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากปริมาณคอนโดมิเนียมใหม่ที่แล้วเสร็จในปีเดียวกันนี้
หากพิจารณาโครงการในย่านใจกลางเมืองที่กำลังทำการตลาดในปัจจุบัน จะพบว่า ยอดขายเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 70% จากทั้งสิ้น 13,347 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 0.7% โดยคอนโดมิเนียมระดับกลางและระดับล่าง ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมียอดขายที่ดีมาก
“ในปี 2550 เราคาดว่าจะมีการชะลอตัวของการเปิดโครงการใหม่ในย่านใจกลางเมือง เพราะผู้ประกอบการต้องประสบกับความท้าทายที่มากขึ้นในการมองหาแปลงที่ดินที่เหมาะสมในย่านใจกลางเมือง ในทางกลับกัน จะมีโครงการใหม่เกิดมากอีกจำนวนมากในย่านรอบ ๆ ใจกลางเมือง อาทิ พหลโยธิน รัชดาภิเษก ลาดเพร้าว และท่าพระ เป็นต้น” นางสาวอลิวัสสากล่าว
สำหรับราคาคอนโดมิเนียมชั้นดีในย่านใจกลางกรุงเทพ ฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% - 15% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับเดียวกันนี้ในปี 2550 ปัจจุบันราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมแนวสูงระดับเกรดเอในย่านใจกลางเมืองอยู่ที่ 100,000 — 130,000 บาท ต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งโครงการ
ตลาดที่พักอาศัยประเภทอพาร์ตเม้นต์
ตลาดอพาร์ตเม้นต์มีการเติบโตที่ดีมากอย่างต่อเนื่อง เพราะอพาร์ตเม้นต์ในตลาดมีปริมาณลดลง ในขณะที่ความต้องการยังมีอยู่มาก
ในปี 2549 ปริมาณอพาร์ตเม้นต์ในกรุงเทพ ฯ ลดลง 0.6% ต่อปี เหลือ 9,871 ยูนิต เพราะอพาร์ตเม้นต์บางแห่งถูกปรับให้เป็นเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์หรือโรงแรม ในด้านปริมาณความต้องการพบว่า อัตราการเข้าพักอาศัยเฉลี่ยโดยรวมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 88.2% โดยมีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพ ฯ ณ เดือนสิงหาคม 2546 รวมทั้งสิ้น 65,337 คน เพิ่มขึ้น 12.9% ต่อปี
ทั้งราคาค่าเช่าที่คาดหวังและราคาค่าเช่าที่ได้รับจริงโดยเฉลี่ย ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% และ 1.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ ช่องว่างด้านราคาค่าเช่าที่ได้รับตามจริงระหว่างอพาร์ตเม้นต์ใหม่และอพาร์ตเม้นต์เก่ากำลังขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ
เป็นที่คาดการณ์ว่า การแข่งขันในตลาดอพาร์ตเม้นต์จะมีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2550 โดยเป็นผลมากจากปริมาณอพาร์ตเม้นต์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นและปริมาณคอนโดมิเนียมให้เช่าที่จะแล้วเสร็จในปีหน้า
ตลาดที่พักอาศัยประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์
จำนวนเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ในกรุงเทพ ฯ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 867 ยูนิต หรือคิดเป็น 11.0% ต่อปี ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดการณ์ว่า การแข่งขันในตลาดดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะในปีหน้าจะมีเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ใหม่มากกว่า 1,500 ยูนิตเพิ่มเข้าสู่ตลาด
ด้านปริมาณความต้องการในปี 2549 ยังคงมีอยู่มาก ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าเช่าโดยเฉลี่ยต่อเดือนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ระดับเกรดเอ แม้จะมีเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากก็โดยค่าเช่าในย่านสุขุมวิทเพิ่มขึ้นถึง 12.2% ต่อปี ในขณะที่ค่าเช่าในย่านสีลม-สาทรปรับตัวลดลง 2.7%
ในปี 2550 จะมีเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ใหม่ที่กการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเป็นจำนวนมาก และการแข่งขันของตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ในย่านใจกลางเมืองจะมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้ย
ตลาดอาคารสำนักงาน
จำนวนพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพ ฯ เพิ่มขึ้นอีก 252,826 ตารางเมตรในปี 2549 ทำให้มีปริมาณรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 7.46 ล้านตารางเมตร พื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากอาคารสำนักงานที่แล้วเสร็จ 9 แห่งด้วยกัน อาทิ คิวเฮ้าส์ ลุมพินี (59,000 ตารางเมตร) และเอกเชน ทาวเวอร์ (36,000 ตารางเมตร) ด้านปริมาณการเข้าใช้พื้นที่สำนักงานโดยรวมปี 2549 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตารางเมตร ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 อัตราพื้นที่ว่างยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราพื้นที่ว่างเฉลี่ยโดยรวมของตลาดอยู่ที่ 13.9% ในย่านใจกลางธุรกิจหรือ ซีบีดี อัตราพื้นที่ว่างอยู่ที่ 12.6% ในขณะที่บริเวณนอกซีบีดีอยู่ที่ระดับ 15.2% อัตราพื้นที่ว่างที่อยู่ในระดับต่ำดังกล่าวมีนัยว่า หากปริมาณความต้องการปรับตัวดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะส่งผลให้ราคาค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นมากได้
ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอในย่านซีบีดีโดยเฉลี่ยสำหรับการเช่าพื้นที่ขนาด 300 ตารางเมตรเพิ่มขึ้น 14% ต่อปี เป็น 723 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดบีในย่านซีบีดีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18.8% ต่อปี เป็น 538 บาท โดยแนวโน้มราคาค่าเช่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไป แต่จะปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ช้าลง
“ตลาดอาคารสำนักงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีอนาคตที่สดใส ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณพื้นที่สำนักงานจะมีจำนวนจำกัด จนกว่าจะถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2550 จึงจะมีพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 197,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่ใหม่ดังกล่าวจะมาหลายโครงการด้วยกัน อาทิเช่น อาคารจัตุรัส จามจุรี (90,000 ตารางเมตร) และแอทธินี ทาวเวอร์ (38,000 ตารางเมตร)” นางสาวอลิวัสสากล่าว
ตลาดธุรกิจค้าปลีก
ปริมาณพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพ ฯ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 4.51 ล้านตารางเมตรเพิ่มขึ้น 12.1% ต่อปี โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวและและการปรับปรุงพื้นที่ของโครงการเซ็นทรัลเวิร์ล และการเสร็จสมบูรณ์ของโครงการเอสพลานาด รัชดาภิเษก แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ความต้องการของตลาดก็สอดคล้องกับปริมาณพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีอัตราการเข้าใช้พื้นที่ในระดับสูงที่ 94.2%
ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศดูเหมือนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากสถาน การณ์ทางการเมืองที่มีความมั่นคงมากขึ้น และการที่เงินเฟ้อและราคาน้ำมันลดลง ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตที่ดีและปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในกรุงเทพ ฯ ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 26.9% ต่อปี ทั้งนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพ ฯ
บรรยากาศโดยรวมของตลาดค้าปลีกจะยังคงแข่งขันรุนแรง และในปีหน้าจะมีพื้นที่ค้าปลีกใหม่เพิ่มขึ้นอีกราว 220,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ แนวโน้มราคาค่าเช่าจะขึ้นอยู่ยอดขายและผลกำไรของร้านค้าที่เพิ่มขึ้น
ตลาดธุรกิจอุตสาหกรรม
ตลาดที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2548 และต่อเนื่องมาถึงเดือนกันยายนปี 2549 ที่มีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 1,856 ไ่ร่ หรือลดลงถึง 39.9% เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ามีการเติบโตที่ดี ทั้งยังมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการเข้าใช้พื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80% ซึ่งความต้องการโดยส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเอง
หากพิจารณาในด้านปริมาณที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่า นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มที่จะซื้อที่ดินใหม่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 หลังจากที่ไม่มีการซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 5 ไตรมาสก่อนหน้านี้ ที่ดินใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการเปิดตัวของนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 3 แห่ง ซึ่งมีผลให้อัตราการเข้าใช้พื้นที่ลดลงเหลือ 82.4% ในขณะเดียวกันปริมาณโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 23.9% ต่อปี โดยโรงงานให้เช่าสำเร็จรูปให้เช่าจากไทคอนมีสัดส่วนสูงถึง 46.9% ของปริมาณทั้งตลาด
ธุรกิจอุตสาหกรรมจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจและลดปัญหาในเรื่องความซ้ำซ้อน
ปริมาณที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นอีก 2,600 ไร่เป็นอย่างน้อย สำหรับตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าจะมีแนวโน้มสดใส ขับเคลื่อนโดยอาศัยความต้องการจากผู้ผลิตรายย่อยเป็นสำคัญ
ตลาดโรงแรม
ตลาดโรงแรมนับได้ว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่ดีที่สุดของตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพ ฯ ในปี 2549 นี้ โดยมีโรงแรมใหม่ระดับห้าดาว 3 แห่งเริ่มเปิดดำเนินการ ทำให้มี 846 ห้องเพิ่มเข้าสู่ตลาด
อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรมในกรุงเทพ ฯ เพิ่มขึ้นเป็น 73% ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ซึ่งธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในวันที่ 19 กันยายนน้อยมาก
ธุรกิจโรงแรมได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งมองเห็นถึงศักยภาพการเติบโต โดยนักลงทุนเหล่านี้ต่างกำลังมองหาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการโรงแรมที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมทั้ง มองหาพื้นที่เพื่อการพัฒนาโครงการใหม่
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดการณ์ว่า การแข่งขันของตลาดโรงแรมในกรุงเทพ ฯ จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจะมีห้องพักในโรงแรมระดับหรูเพิ่มขึ้น 942 ห้อง และ 1,996 ห้องในโรงแรมระดับเฟิร์สคลาสในปีหน้า เป็นการเพิ่มขึ้น 11.0%และ 29.6% ตามลำดับ
ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยในโรงแรมระดับหรู ปัจจุบันอยู่ที่ 141 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคืน สูงขึ้น 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงสิ้นปี 2549 โรงแรมระดับหรูและระดับเฟิร์ส คลาสจะมีการปรับราคาห้องพักขึ้นอีก
ตลาดการลงทุน
ตลาดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความเติบโตขึ้นในปี 2549 ณ ไตรมาสที่ 3 มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 12 กองทุน มูลค่ารวม 43.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น และนักลงทุนนิยมลงทุนในกองทุนหลายประเภทด้วยกัน
ประเทศไทยยังคงได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้จากทั่วทุกมุมโลก นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน โรงแรม และค้าปลีกในไทยเป็นอย่างมาก การที่มีโอกาสน้อยมากในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางรายเริ่มที่จะหันมาพัฒนาโครงการเป็นของตนเอง
นักท่องเที่ยวและนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์รายย่อยให้เข้ามาอย่างต่อเนื่องได้ โดยอาศัยความได้เปรียบที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในเรื่องการต้อนรับขับสู้ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไปสู่ทั้งตลาดในกรุงเทพ ฯ และตลาดที่พักแบบรีสอร์ต ศักยภาพในการเติบโตจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก หากประเด็นเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ การออกวีซ่า และการเรียกเก็บภาษีมีข้อจำกัดน้อยลง
การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาความน่าสนใจและความสามารถในการแข่งขันไว้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบัน การแข่งขันในระดับภูมิภาคกำลังเพิ่มมากขึ้น มิใช่เฉพาะกับประเทศอินเดียและจีน เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวียดนามอีกด้วย
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น และเพื่อที่จะดึงดูดแหล่งเงินและการลงทุน ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เป็นที่น่าสนใจมากกว่านี้
นางสาวอลิวัสสาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การประกาศออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากไม่มีการระบุเป็นเฉพาะเจาะจงถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้ซื้อคอนโดมิเนียมชาวต่างชาติ ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรให้ความกระจ่างถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เกี่ยวกับ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (NYSE:CBG) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการแบบครบวงจร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครลอสแองเจลลิส ให้บริการแก่เจ้าของโครงการ นักลงทุน และผู้ซื้อรายย่อย ครอบคลุมตลาดมากกว่า 350* แห่ง ใน 50* ประเทศทั่วโลก
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เริ่มเปิดสาขากรุงเทพ ฯ ครั้งแรกในปีพ.ศ.2531 และสาขาภูเก็ตในปีพ.ศ. 2547 โดยให้บริการด้านการเป็นตัวแทนในการซื้อ ขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ อาคารสำนักงาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอุตสาหกรรม โรงแรม ที่ดิน และให้บริการด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งรวมถึง การให้บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การวิจัยตลาด และการประเมินราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังให้บริการในด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรฐานในระดับสากล หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการ สามารถเข้าชมได้ที่ www.cbre.co.th
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติ่ม:นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตรกรรมการผู้จัดการ02 654 1111
นางสาวงามใจ เจียรจรัสผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร02 654 1111 ต่อ 522
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ