ศปถ. เร่งประสานทุกหน่วยงานแก้ไขปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

ข่าวทั่วไป Friday April 17, 2009 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ศปถ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๖ เม.ย. ๕๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของช่วง ๗ วันระวังอันตราย เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม ๓๔๓ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๕๒ ราย ผู้บาดเจ็บ ๓๗๑ ราย รวม ๗ วัน (วันที่ ๑๐ — ๑๖เม.ย. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวม ๓,๙๗๗ ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม ๓๗๓ ราย ผู้บาดเจ็บรวม ๔,๓๓๒ ราย ทั้งนี้จะประสานจะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเคร่งครัด ทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ รวมถึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ ประจำวันที่ ๑๗ เม.ย. ๕๒ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันสุดท้ายของช่วง ๗ วันระวังอันตราย (วันที่ ๑๖ เม.ย. ๕๒) พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม ๓๔๓ ครั้ง มากกว่าปี ๕๑ (๒๘๘ ครั้ง) ๕๕ ครั้ง ร้อยละ ๑๙.๑๐ ผู้เสียชีวิต ๕๒ ราย มากกว่าปี ๕๑ (๔๔ราย) ๘ ราย ร้อยละ ๑๘.๑๘ ผู้บาดเจ็บ ๓๗๑ ราย มากกว่าปี ๕๑ (๓๑๙ ราย) ๕๒ ราย ร้อยละ ๑๖.๓๐ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ ๔๐.๖๖ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๑๙.๙๖ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๑.๙๐ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๖๑.๑๐ บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๕.๐๘ และถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๑.๔๑ และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๖๑.๓๕ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๑.๖๑ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน อายุ ๒๐ — ๔๙ ปี ร้อยละ ๕๕.๙๐ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี ๑๓ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี พิษณุโลก เชียงราย ปทุมธานี และสมุทรสงคราม จังหวัดละ ๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี ๔๔ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี ๑๖ ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม ๗ วัน (วันที่ ๑๐ — ๑๖ เม.ย. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๙๗๗ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๒๔๓ ครั้ง) ๒๖๖ ครั้ง ร้อยละ ๖.๒๗ ผู้เสียชีวิตรวม ๓๗๓ ราย มากกว่าปี ๕๑ (๓๖๘ ราย) ๕ ราย ร้อยละ ๑.๓๖ ผู้บาดเจ็บรวม ๔,๓๓๒ ราย น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๘๐๓ ราย) ๔๗๑ ราย ร้อยละ ๙.๘๑ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๔๕ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๔ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตทั้ง ๗ วัน จำนวน ๗ จังหวัด ได้แก่ ตราด ฉะเชิงเทรา ยโสธร อำนาจเจริญ สกลนคร น่าน และยะลา จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๖๔ ราย สำหรับการบังคับใช้กฎหมายรวม ๗ วัน เรียกตรวจยานพาหนะตามมาตรการ ๓ม. ๒ข. ๑ร. รวม ๕,๒๗๑,๙๗๗ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม ๔๐๘,๐๒๐ ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ ๑๓๗,๘๐๖ ราย ร้อยละ ๓๓.๗๗ รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย ๑๓๖,๗๗๒ ราย ร้อยละ ๓๓.๕๒ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า เพื่อแก้ไขสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ประสานให้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ดังนี้ ด้านการบังคับใช้กฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรประจำด่านตรวจ จุดตรวจ การแก้ปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย และสนับสนุนเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา ได้แก่ เครื่องตรวจจับความเร็ว เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ประจำจุดตรวจ เป็นต้น ตลอดจนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีเมาสุราขณะขับรถ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพ ทั้งในช่วงเทศกาลและช่วงปกติ โดยให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎจราจรในอัตราโทษขั้นสุงสุด กรณีผู้กระทำผิดเป็นเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมรับผิดชอบด้วย รวมทั้งใช้มาตรการคุมประพฤติเพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ที่ปลอดภัย สำหรับกรณีเมาแล้วขับ ให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจำหน่ายแก่บุคคล สถานที่ และช่วงเวลาที่กำหนด รวมถึงห้ามวิธีการเร่ขาย รวมถึงจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในส่วนมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ทุกประเภทให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งรณรงค์มิให้ประชาชนใช้รถผิดประเภทในการเดินทาง โดยเฉพาะการจ้างเหมารถบรรทุก รถกระบะซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเพื่อบรรทุกผู้โดยสาร ทั้งนี้ ศปถ. จะพิจารณาหาแนวทางส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนมากขึ้น ทั้งการแก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย และควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเสี่ยงในชุมชน โดยใช้มาตรการทางสังคม รวมถึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมการขนส่งทางบก เสริมสร้างความรู้และทักษะการขับขี่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อประกอบการออกใบอนุญาตขับขี่และลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ส่วนกลาง จังหวัด และจุดตรวจบนเส้นทางสายต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ