กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--บ้านพีอาร์
หากในวันที่คุณผ่านเข้าไปในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) แล้วเห็นเด็กตัวเล็กๆ พากันถือเคียวเกี่ยวข้าวอยู่ที่ทุ่งนาภายในมหาวิทยาลัย แล้วล่ะก็ ไม่ต้องแปลกใจไปค่ะ เพราะวันนั้นเด็ก ๆ โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ชั้นอนุบาล 2/3 พากันไปทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้เรื่อง “ข้าว” แล้วนำข้อมูลมาจัดนิทรรศการ ผลงานการเรียนรู้แบบโครงงาน Project Approach กัน ตามไปดูกันดีกว่าว่าเด็กกุ๊กไก่ตัวจิ๋วเค้าทำอะไรกันบ้าง
การเรียนรู้แบบโครงงาน “Project Approach” ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ เริ่มต้นจากการที่เด็กๆ จะเลือกเอาประสบการณ์และความสนใจที่เค้าอยากจะเรียนรู้ มาคิด ตั้งข้อสงสัยและเกิดเป็นคำถามขึ้น ก่อนที่หนูๆจะเริ่มสำรวจ สืบค้นข้อมูล และทำการทดลองทั้งในห้องเรียนและนอกโรงเรียน ซึ่งพวกเขาจะลงมือศึกษาสิ่งต่าง ๆ นั้นด้วยตนเอง จึงทำให้ความสนใจในการเรียนรู้นั้นมีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ยังสร้างความสนุกสนานและความตื่นเต้นไปพร้อมกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอีกด้วย
หลังจากที่น้องๆ ได้เสนอเรื่องต่างๆ ที่แต่ละคนสนใจอยากจะเรียนรู้กับคุณครูไปแล้ว ในที่สุด “ข้าว” ก็เป็นเรื่องราวที่เด็กอยากจะรู้กันมากที่สุด ที่อยากจะรู้กันเพราะอะไรนั้น ก็ดูได้จากคำถามเกี่ยวกับข้าวเหล่านี้ “เพราะหนูทานข้าวแล้วอร่อย จึงอยากรู้ค่ะ” “ผมอยากรู้ว่าชาวนาใช้เคียวแล้วยังใช้อะไรอีก” “ข้าวปลูกอย่างไร” “ข้าวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง” “ข้าวมีกี่ชนิด” ซึ่งยังมีคำถามอีกมากมายที่เด็กฉลาด คิดได้อีกเป็นหางว่าว
ในสัปดาห์ต่อมาเด็กๆ กระตือรือร้นกับการเรียนรู้และสืบค้นเรื่องข้าวกันยกใหญ่ โดยเห็นได้จากการแสดงออกถึงประสบการณ์เดิมที่มีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน และร่วมกันสืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอย่างเอาจริงเอาจัง น้องไพน์ - ด.ญ. พัณณิน นิมิตวานิช บอกว่า “ ชาวนาปลูกข้าวต้องเอาเมล็ดข้าวไปแช่น้ำก่อนแล้วถึงเอาไปหว่านค่ะ ข้าวก็จะโตมานิดนึง พอข้าวโตเต็มที่แล้ว ข้าวก็จะออกรวงจนข้าวแก่ จากนั้นชาวนาก็จะมาเกี่ยวข้าวเอาไปที่โรงสี เพื่อเอาเปลือกออกจากเมล็ดข้าวและก็จะเป็นข้าวสาร” เด็กๆ จึงช่วยกันทดลองตามด้วยการตักน้ำมาแช่เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวสาร แล้วคอยสังเกต ซึ่ง คุณครูแอบเล่าให้ฟังว่าเมื่อเด็กมาถึงโรงเรียนแต่เช้า ก็จะวิ่งปรู๊ดมาดูการเปลี่ยนแปลงของข้าวเปลือกและข้าวสารที่ร่วมกันทำการทดลองไว้ ลุ้นต้นข้าวงอกทุกเช้าเลยค่ะ
เด็ก ๆ บอกว่าข้าวเปลือกสามารถนำไปปลูกข้าวได้ คุณครูจึงเตรียมแปลงปลูกข้าวเป็นกะบะใส่ดินให้นักเรียนได้ทดลองปลูกข้าวกัน โดยนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำและหว่านลงในกะบะดิน ทุกวันเด็กๆ จะเวียนกันช่วยรดน้ำที่กะบะปลูกข้าวและคอยสังเกตการเจริญเติบโต วัดความสูงของต้นข้าวเป็นระยะ แล้วจึงบันทึกด้วยการระบายสีในตารางที่คุณครูจัดเตรียมไว้ให้
ถัดมาอีกสัปดาห์เด็กๆ ได้นำเมล็ดข้าวหลายชนิดมาเปรียบเทียบ ขนาด สี จนได้ความรู้ว่าเมล็ดข้าวที่เห็นเป็นวงรีนั้น เมล็ดจะแข็งมาก ต้องทำให้สุกก่อนถึงจะรับประทานได้ ว่าแล้วน้องหนูก็ทำการทดสอบด้วยการหุงข้าวให้สุกโดยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เริ่มจากการช่วยกันล้างข้าวสารหรือที่เรียกว่า การซาวน้ำ จากนั้นจึงใส่น้ำ และเสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว แล้วแยกย้ายกันไปเรียนวิชาพละศึกษาก่อนจะกลับมาพบว่าห้องเรียนหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นข้าวสวยในหม้อ ที่เม็ดอ้วนกลมสุกออกมาน่ารับประทานอย่าบอกใคร
เด็ก ๆ คิดเมนูข้าวผัดกุ๊กไก่ คุณครูจึงเตรียมอุปกรณ์ในการทำข้าวผัดไว้ให้ ทุกคนช่วยกันปรุงรส ใส่ผัก อาทิ แครอท ฝักทอง หอมใหญ่ และกระเทียมกันอย่างสนุกสนาน เสร็จสรรพจึงรับประทานร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนข้าวสุกที่เหลือก็นำไปตากแดดจนแห้งสนิท แล้วจึงลองเอาข้าวตากนั้นมาทอด เด็กๆ สังเกตเห็นว่าเมื่อทอดแล้วข้าวจะพองขึ้น เรียกว่า “ข้าวตัง” แต่เมื่อชิมก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีรสชาติอะไรเลย คุณครูจึงแนะนำให้เอาน้ำตาลปี๊ปมาตั้งไฟเคี่ยวให้เหนียวแล้วโรยหน้าข้าวทอด เพื่อให้ข้าวมีรสชาติหวานหอมขึ้น
จากนั้นเด็กๆ ช่วยกันนำฟางข้าวที่ผู้ปกครองท่านหนึ่งได้นำมาให้ มาทำเป็นหุ่นไล่กากับกองฟาง โดยเด็กๆ ช่วยกันแนะนำวิธีการทำหุ่นไล่กากับกองฟางอย่างตั้งใจ น้องฉัน — ด.ช. ฉัน กันตวนิช บอกว่า “เอาฟางข้าวมามัด แล้วทำเป็นตัวหุ่น ใช้เชือกมัดให้แน่น แล้วฟางที่เหลือเอามาทำเป็นกองฟางข้างหุ่นไล่กา ต้องเอาเสื้อกับกางเกงใส่ให้หุ่นไล่กาด้วยนะ และต้องใส่หมวกด้วย” น้องฉันอธิบายให้ฟัง
ถึงเวลาที่จะได้ออกไปดูแปลงนาข้าวกันแล้ว คุณครูจึงพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อจะได้เห็นแปลงนาข้าวของจริงกันเสียที ที่นี่ต้นข้าวเยอะมาก แต่ไม่ยักกะเห็นจะมีหุ่นไล่กาสักตัว จะมีก็แต่ตาข่าย คุณลุงไก่ วิทยากรใจดีจึงอธิบายให้ฟังว่าที่นี่เป็นแปลงนาทดลองที่ใช้ตาข่ายแทนหุ่นไล่กาเพื่อป้องกันไม่ให้นกลงมาจิกข้าว ที่แปลงนาสาธิตมีอุปกรณ์ในการทำนาให้ได้เห็นมากมาย อาทิ รถไถนา รถสีข้าว รถนวดข้าว พลั่ว เคียวเกี่ยวข้าว และคราด
คุณลุงไก่นำข้าวกล้อง และน้ำข้าวกล้องงอกมาให้เด็กๆ ได้ชิมกัน และเปิดโอกาสให้น้องหนูทุกคนทดลองดำนา เกี่ยวข้าว และนวดข้าวด้วยตนเอง เสร็จจากการลุยนาข้าวของจริงแล้ว คุณลุงไก่ได้พาไปที่โรงสีข้าวและอธิบายถึงวิธีการใช้เครื่องสีข้าว ทั้งยังสอนให้น้องๆฝัดข้าวจากกระด้งอีกด้วย น้องเจิน เจิน — ด.ญ. จิดาภา เตมียประดิษฐ์ บอกว่า “หนูชอบทานข้าวกล้องที่คุณลุงไก่เอามาให้ อร่อยมากๆ ค่ะ กลับบ้านเจินจะบอกคุณแม่ทำให้ทาน เจินเห็นชาวนาฟาดข้าวให้ออกจากรวงข้าวด้วย หนูชอบมากตอนที่ปลูกข้าวด้วยการหว่านเมล็ด เจินดำนาได้ค่ะ แต่ไม่ค่อยชอบค่ะ เพราะกลัวเปื้อน แต่เจินก็ทำได้ค่ะ เสร็จแล้วล้างมือให้สะอาดค่ะ” น้องเจินเล่า
กลับจากค้นหาข้อมูลจากแหล่งความรู้นอกห้องเรียนแล้ว คุณครูลองให้เด็กๆ แต่งนิทาน จากสิ่งที่ได้พบเห็นมาที่ ม.เกษตรฯ และออกมาเล่าให้เพื่อนๆ ในชั้นได้ฟังกัน ซึ่งเนื้อเรื่องของแต่ละคนล้วนมีความสนุกสนานและความน่ารัก ซึ่งเด็กๆ ก็ยังวาดภาพและระบายสีประกอบการเล่านิทานพร้อมทั้งแสดงบทบาทสมมติในการเล่านิทานอีกด้วย
สัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้และสืบค้นเกี่ยวกับเรื่องข้าว ได้มีการสรุปถึงสิ่งที่ได้สืบค้นมา และรวบรวมเป็นผลงานมาจัดนิทรรศการให้ได้ชมกัน เด็ก ๆ ช่วยกันออกแบบการ์ดเชิญและเตรียมของที่ระลึกให้กับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการด้วยตัวเอง พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ในการบรรยายผลงานให้แก่ผู้ที่เข้าชม ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจสำหรับผู้ปกครองและผู้ที่มาชมงานนิทรรศการ เสร็จจากงานนี้ขอบอกว่าหิวข้าวขึ้นมาทันที ขอตัวไปหุงข้าวที่แสนจะหอมอร่อยทานก่อนนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022929383 บ้านพีอาร์