กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ธนาคารทหารไทย
ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เผย ปริมาณผลิตผลผักที่เข้าสู่ตลาดที่ลดลงอันเกิดจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและการคมนาคมที่ไม่สะดวก จะส่งผลให้ราคาผักสูงขึ้นต่อไปอย่างน้อยอีก 1-2 เดือน และจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
ในด้านธุรกิจร้านอาหารภัตตาคาร ที่ได้รับผลกระทบจากราคาผักที่สูงขึ้นจะผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาอาหารหรือปรับลดปริมาณลง
ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปผัก ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ถ้าภาวะน้ำท่วมกินเวลานาน อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจผลักภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภคได้เช่นเดียวกันธุรกิจอาหาร แต่ถ้าผู้ประกอบการได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว ผู้ประกอบการต้องรับภาระดังกล่าวเอง
อุตสาหกรรมแปรรูปผักเพื่อการส่งออกที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพดหวานกระป๋อง ข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง และมะเขือเทศปรุงแต่งที่ทำให้ไม่เสีย โดยข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ซึ่งคาดว่าจะไม่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ส่วนมะเขือเทศโรงงานส่วนใหญ่ปลูกอยู่ในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงเช่นกัน จึงคาดว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปดังกล่าว