แนวคิดจากปราชญ์ชาวบ้าน สู้วิกฤติด้วยความพอเพียง

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2009 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สสส. หากถามหาแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงว่ามาจากไหน หลายคนคงคิดถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวหัวว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่ถึงที่สุดแล้ว การเข้าถึงปรัชญาดังกล่าวยังมีคำถามอีกมากว่าแค่ไหนถึงจะรียกว่าพอเพียง แต่ถ้าจะจำเพาะให้เรียบง่าย คำตอบที่แสนธรรมดาเกี่ยวกับความพอเพียง คงจะนิยามได้ว่า “การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำ แล้วครอบครัวมีความสุข ชุมชนมีความสุข และเมื่อชุมชนสุข ประเทศของเราก็จะเป็นสุข และผ่านพ้นวิกฤติได้” คำตอบนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยแนวคิด ทฤษฏีสวยหรูมาอธิบาย แต่นี่คือความจริงที่ใครๆ ก็สัมผัสได้ เพราะนี่เป็นปากคำของปราชญ์ชาวบ้านที่ร่วมบอกเล่าถึงการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง จนนำชุมชนสู่ความเข้มแข็ง รอดพ้นวิกฤติกลับมายืนอย่างภาคภูมิใจได้ในวันนี้ ในการเสวนา “ทางรอดของชุมชน...ในยุควิกฤติ” ในงานมหกรรมหมู่บ้านเป็นสุข อย่างพอเพียง ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ปราชญ์ชาวบ้าน 3 ท่าน คือ แม่ภาคี วรรณสัก จากบ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน, กำนันอดิศร เหล่าสะพาน จากบ้านดอนมัน จ.มหาสารคาม และ ผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ จากบ้านจำรุง จ.ระยอง ผู้นำชุมชนที่นำพาชุมชนของตนเองดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาร่วมเล่าขาน และให้แนวทางอยู่รอดในภาวะวิกฤติปัจจุบัน แม่ภาคี แม่หญิงจากทุ่งยาวที่นำพาชุมชนร่วมต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าที่ถือว่าเป็น ‘ชีวิต’ ของชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี สะท้อนถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบกันไปหมดในขณะนี้ว่า สำหรับคนที่ทุ่งยาวแล้ว ไม่รู้สึกว่าเป็นวิกฤติ เนื่องจากความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมเป็นอาวุธสำคัญ และนำพาให้ก้าวผ่านวิกฤติแต่ละครั้งของบ้านทุ่งยาวมาได้ “วิกฤติเดี๋ยวนี้ สำหรับเฮาแล้วไม่ได้ถือว่าวิกฤติ เพราะเฮามีประเพณีวัฒนธรรมเดิมที่ยังอยู่ ไม่ว่าจะมีวัตถุเพิ่มมากขึ้น แต่เฮาไม่ทิ้งวัฒนธรรมชุมชน” แม่ภาคี เล่าถึงปัจจัยสำคัญที่คนทุ่งยาวค้นพบจากการร่วมต่อสู้อย่างยาวนานในการรักษาผืนป่าที่ดินทำมาหากิน เนื่องจากทุ่งยาวเป็นพื้นที่หล่อแหลม และเป็นที่ต้องการของนายทุนจากภายนอก รวมถึงรัฐด้วย ขณะที่กำนันอดิศร จากบ้านดอนมัน ผู้นำชุมชนที่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งและความยากจนมาสู่วิถีชีวิตแห่งการพึ่งตนเอง นำความเข้มแข็งมาสู่ชุมชน เล่าว่า คนส่วนใหญ่เดินตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มีคนส่วนน้อยที่ทวนกระแส และต้องทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบพออยู่ พอกิน สามารถแก้ปัญหาได้ อันดับแรกต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้เขาเห็นก่อน “คนที่ไปค้าแรงงานภายนอก เมื่อกลับมาหมู่บ้าน จะเห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จิตวิญญาณที่แตกต่างกัน คนที่อยู่ในหมู่บ้านใช้ชีวิตแบบพออยู่ พอกินจะมีความสุขมากกว่า ให้คนส่วนใหญ่ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด คนเราถ้าความคิดไม่เปลี่ยน การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าความคิดเปลี่ยน การดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนได้ง่าย” กำนันอดิศร เล่า สอดคล้องกับ ผู้ใหญ่ชาติชาย จากบ้านจำรุง หมู่บ้านชาวสวนที่ประสบกับปัญหาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และผลเสียจากการใช้สารเคมี จนกระทั่งนำมาสู่การเรียนรู้ และการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี บนเส้นทางสายพอเพียง ยอมรับว่า ในช่วงแรกๆ นั้นมีความเห็นแตกต่างกันในชุมชน สิ่งที่สำคัญต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน จากนั้นจะมีเพื่อนตามมา หลายคนมองว่าการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทำไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องทำให้เขาเห็นว่า ทำได้ “บ้านจำรุงใช้แนวทางของตัวเอง เริ่มจากเรื่อง นอน อยู่ รู้ กิน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน จากนั้นสร้างกิจกรรมขึ้นภายในชุมชน ขยายเครือข่ายออกไปจนถึงเดี๋ยวนี้มี 20 กลุ่มงาน และใช้วิทยุชุมชนในการเผยแพร่สิ่งที่ทำ จนกระทั่งกลายเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะเป็นอย่างไร เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังต้องต่อสู้ต่อไปเรื่อยๆ” ผู้ใหญ่บ้านจำรุง เชื่อมั่นว่า หากแต่ละชุมชนมีความแข็งแกร่ง มีการทำงานเป็นกลุ่ม และมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หมู่บ้านใดที่เข้มแข็งจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ เผยแพร่ถ่ายทอด ต่อยอด ออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทำแบบนี้สัก 3-4 ปี เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศได้ หรืออย่างน้อยเรียนรู้กระแสสังคมอย่างเท่าทัน สุดท้ายแล้ว แม่ภาคี กล่าวว่า การต่อสู้ ยืนยัดในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไร เพียงแต่ต้องการมีชีวิตแบบพออยู่ พอกิน ไม่รวย แต่มีกิน อยู่อย่างเป็นสุข มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชน หมู่บ้าน... วันนี้.ทั้ง 3 ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น บ้านทุ่งยาว บ้านดอนมัน และบ้านจำรุง ได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งความพอเพียง และค้นพบคำตอบสำหรับตัวเองแล้ว แต่บ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ ยังคงต้องขยายความคิดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กระจายไปให้ทั่วพื้นที่ เพื่อที่สังคมไทยจะได้เป็นเหมือนทุ่นที่ลอยน้ำ ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง เรายังคงลอยอยู่ได้ ในวิกฤติที่ต้องเผชิญ. ทีมงานประชาสัมพันธ์ สำนัก 6 สสส.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ