กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--คต.
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันอียูให้ความสำคัญกับสินค้าที่ประทับตรา “Fair Trade” ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้านั้นจะไม่มีการเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ผลิตหรือแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา องค์กร Fairtrade Labelling Organizations International (FLO) กล่าวว่าร้อยละ 20 ของกาแฟคั่วและบด รวมทั้งกล้วยที่จำหน่ายในสหราชอาณาจักร เป็นสินค้า Fair Trade สินค้าที่มีตรา Fair Trade จึงเป็นลู่ทางการค้าอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรของไทย โดยขั้นตอนการขอรับรองเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ “Fair Trade” มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรก ส่งใบสมัครเพื่อตรวจสอบ “ขอบเขต” และ “วัตถุประสงค์” โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.fairtrade.net/home.htm) ขั้นตอนที่สอง หากผ่านในขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่จะส่งใบสมัครอีกฉบับหนึ่งพร้อมรายการเอกสารที่ต้องแนบประกอบการพิจารณา ผู้สมัครต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมในการจัดเตรียมเอกสารจำนวน 500 ยูโร ขั้นตอนที่สาม หากผ่านการคัดเลือก จะทำการตรวจสอบตัวสินค้า (Physiscal Audit) โดยจะจัดทำในประเทศไทยและหากตรวจพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎที่ Fair Trade กำหนด จะได้รับการติดต่อให้แก้ไขให้เป็นไป ตามกฎ ขั้นตอนที่สี่ หากการปรับปรุงแก้ไขเป็นไปตามเงื่อนไขที่ Fair Trade กำหนดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะทำการประทับตรารับรองสินค้าให้แก่ผู้สมัคร ทั้งนี้ การรับรองผลิตภัณฑ์ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับในแต่ละขั้นตอนได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก Fair Trade จะถูกขนส่ง เก็บรักษา และปฏิบัติแยกจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ Fair Trade ปัจจุบัน สินค้าของไทยที่มีการดำเนินการด้าน Fair Trade ได้แก่สหกรณ์ข้าว ได้ตรา Fair Trade ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 ดังนั้น ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของ Fair Trade ได้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ส่งออก และในอนาคตประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่อียูก็อาจนำมาปรับใช้ด้วยเช่นกัน