สถาบันอาหารหนุนอุตฯ อาหารไทย...เจาะตลาดจีนสานฝันครัวของโลก ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 10% ภายในปี 2555

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2009 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหารหนุนผู้ประกอบการไทยเพิ่มความเข้มข้นในการรุกตลาดจีน ผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลก ชูจุดแข็งของไทยในฐานะครัวของโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย พร้อมผลักดันสินค้าอาหารไทยผ่านเครือข่ายห้างค้าปลีกรายใหญ่ หวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในจีนเป็นร้อยละ 10 ภายใน 3 ปี เตรียมจับมือสมาคมนักธุรกิจยอดเยี่ยมเชื้อสายจีนทั่วโลกลงนามบันทึกความร่วมมือด้านส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาดจีน มั่นใจภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยยังเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ประมง แป้งและสตาร์ช นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยภายหลังการหารือร่วมกับ MR.LU JUNQING ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมนักธุรกิจยอดเยี่ยมเชื้อสายจีนทั่วโลกและคณะ ว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยในประเทศจีน และลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันอาหารด้านส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาดจีน เพื่อผลักดันให้สินค้าอาหารไทยมีส่วนแบ่งตลาดในจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 2.28 “จีนเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุด ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,300 ล้านคน เป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต แม้จีนจะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนยังคงแข็งแกร่งรอการฟื้นตัวในอีกไม่นาน เพราะจีนมีความมั่นคงทางการเมืองมาก นโยบายเศรษฐกิจจึงมีเสถียรภาพ ที่สำคัญจีนยังเป็นแหล่งผลิตอาหารและเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก ทั้งมีการขยายปริมาณการค้าและการลงทุนสินค้าอาหาร เนื่องจากมีปัจจัยครบถ้วนในการที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิต การลงทุน และการบริโภค นักลงทุนต่างชาติในหลายประเทศได้ย้ายฐานเข้าไปในจีนเพื่อต้องการป้อนตลาดในประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภครองรับเป็นจำนวนมาก” นายยุทธศักดิ์ กล่าว ในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการค้าสินค้าอาหารของจีนส่วนใหญ่เป็นการส่งออกกว่าร้อยละ 56 และการนำเข้าร้อยละ 44 แต่ในปัจจุบันปี 2551 มูลค่าการค้าสินค้าอาหารของจีนมีสัดส่วนของการส่งออกลดลงเหลือร้อยละ 42 ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 (ที่มา : จากการคำนวณ , ข้อมูลเบื้องต้นจาก GLOBAL TRADE ATLAS ) ในอนาคตจีนมีโอกาสที่จะชะลอการส่งออกสินค้าอาหาร และจะกลายเป็นผู้นำเข้ามากกว่าการส่งออก ในปี 2551 จีนนำเข้าสินค้าอาหารมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 48,998 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 สูงกว่าร้อยละ 53 และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.36 อาร์เจนติน่า (17.36) บราซิล (17.01) มาเลเซีย (8.26) และอินโดนีเซีย (5.29) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารอันดับ 9 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.28 โดยพบว่ามีการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าหลักเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศ ประเทศที่จีนนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ บราซิล สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนติน่า ส่วนการนำเข้าจากไทยมีแนวโน้มลดลง สำหรับการค้าสินค้าอาหารระหว่างไทย-จีน ในช่วงปี 2550-2551 เริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยเป็นการลดลงของการส่งออกสินค้าอาหารจากไทยไปจีน ในปี 2550 มูลค่าส่งออกของไทยอยู่ที่ 35,889 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 10.35 และในปี 2551 ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 19.50 สินค้าอาหารที่การส่งออกลดลงเป็นอย่างมากคือ มันสำปะหลังอัดเม็ด/เส้น และข้าว ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 42.57 และร้อยละ 28 ตามลำดับ สินค้าทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงที่ผ่านมามากที่สุดร้อยละ 54.48 ของการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทยไปจีน เมื่อสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงจึงส่งผลต่อภาพรวมการค้าระหว่างไทย-จีน แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารที่ไม่รวมมันสำปะหลังและข้าว พบว่าภาพรวมการส่งออกของไทยจะยังคงเติบโตในอัตราสูงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ประมง และแป้งและสตาร์ช ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทยจากจีน พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549 โดยในปี 2550 ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.76 และในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 23.75 กลุ่มสินค้าที่ไทยนำเข้าเป็นสำคัญคือ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ประมง และผัก มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 70.57 ของการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดของไทยจากจีน สำหรับการค้าในช่วงเดือนแรกของปี 2552 พบว่าการส่งออกของไทยไปจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.02 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้ายังคงเพิ่มสูงขึ้นมากถึง ร้อยละ 63.55 ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 0 89484 9894, 0 2158 9416-8

แท็ก สานฝัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ