กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--คต.
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานหรือกฎระเบียบใน EU ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการบังคับใช้การมีส่วนร่วมและ ความรับผิดชอบของบริษัทและองค์กรธุรกิจต่อสังคม อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการยุโรปได้มีบทบาทหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ภาพกว้างในเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิก EU ซึ่งต่างก็เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับคำจำกัดความ แนวความคิด และวิธีการปรับใช้ CSR ให้สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดีการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกก็ยังมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเดือนกันยายน 2550 คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ออกเอกสาร Compendium ที่รวบรวมนโยบายระดับชาติของประเทศสมาชิก EU จำนวน 25 ประเทศ ในการดำเนินนโยบาย CSR โดยเน้น 3 กรอบนโยบายหลัก ดังนี้
1.) นโยบายและกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมแนวคิด CSR ได้แก่ กิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนัก การวิจัย ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
2.) นโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องมือและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ CSR ที่มีความโปร่งใส ได้แก่ หลักเกณฑ์และ Code of Conduct การรายงานผล การผลิตฉลากและระบบการบริหารจัดการและการออกใบรับบรอง
3.) นโยบายในสาขาอื่นๆ ที่จะส่งผลในเชิงส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิด CSR ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน นโยบายด้านสังคม นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายเพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออก