ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 49 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ค่าดัชนีขยับสูงเกิน 100 เกือบทุกปัจจัย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 22, 2006 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 49 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ค่าดัชนีขยับสูงเกิน 100 เกือบทุกปัจจัย ขณะที่ปัญหาราคาวัตุดิบ และอัตราดอกเบี้ย ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรม
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 527 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.4 จาก 100.4 ในเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 4 ใน 5 ปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และ ผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 117.2 116.2 115.2 และ 114.2 ในเดือนธันวาคม เป็น 123.4 121.9 126.2 และ 114.8 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 68.5 ในเดือนธันวาคม เป็น 63.3 ในเดือนมกราคม
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในแต่ละปัจจัยพบว่า ค่าดัชนีส่วนใหญ่มีค่าเกินกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการค่อนข้างมีความเชื่อมั่นในสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมในระดับที่ดี จะมีเพียงดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการประกอบการ ที่มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเกรงว่าภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนมกราคม 2549 ผลสำรวจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และ ยอดขายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 106.9 120.7 และ 111.3 ในเดือนธันวาคม เป็น 118.1 128.8 และ 117.1 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อราคาขาย สินค้าคงเหลือ การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต เพิ่มขึ้นจาก 121.0 118.7 113.0 และ 131.8 ในเดือนธันวาคม เป็น 126.8 119.3 115.9 และ 139.4 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้นจาก 114.3 107.7 98.5 และ 106.9 ในเดือนธันวาคม เป็น 118.2 108.0 101.3 และ 111.7 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และ สภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 177.5 141.3 และ 116.6 ในเดือนธันวาคม เป็น 179.0 152.9 และ 120.2 ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับลดลงจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 126.0 ในเดือนธันวาคม เป็น 122.8 ในเดือนมกราคม
ทั้งนี้ ในการพิจารณาค่าดัชนีจำแนกรายอุตสาหกรรมในปี 2549 นี้ ได้มีการจำแนกกลุ่มอุตสาห-กรรมตามรูปแบบของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยจะแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 35 กลุ่ม จากที่ผ่านมาที่มีการจัดทำดัชนีเพียง 33 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2549 โดยจำแนกในตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 22 กลุ่ม มีค่าดัชนีเกินกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความมั่นใจกับสถานการณ์ในการประกอบการธุรกิจของตนในระดับค่อนข้างดี และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ค่าดัชนีของอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ในกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพิ่มขึ้นจาก 90.1 เป็น 117.3 อุตสาหกรรมเคมี เพิ่มขึ้นจาก 101.3 เป็น 115.1 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 79.6 เป็น 98.0 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 68.6 เป็น 92.9 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 95.7 เป็น 130.1 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 82.0 เป็น 110.6 อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 90.8 เป็น 110.5 อุตสาหกรรมเหล็ก เพิ่มขึ้นจาก 92.8 เป็น 107.2 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นจาก 90.1 เป็น 110.8 และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 77.3 เป็น 114.1 ในทางกลับกันมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ลดลงจาก 133.3 เป็น 116.6 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ลดลงจาก 124.5 เป็น 108.1 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจาก 108.8 เป็น 89.4 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 131.7 เป็น 114.1 อุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลงจาก 80.7 เป็น 61.9 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ลดลงจาก 123.7 เป็น 111.1 และอุตสาหกรรมจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 130.0 เป็น 119.2
ด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ผู้ประกอบการร้อยละ 44.2 คิดว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่มีผลต่อธุรกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 49.0 คิดว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศส่งผลให้กิจการแย่ลง ส่วนผู้ประกอบการอีกร้อยละ 6.8 คิดว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศส่งผลให้กิจการดีขึ้น
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาห-กรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 101.4 เป็น 115.1 ในเดือนมกราคม ในขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการ อุตสาหกรรมในระดับลดลงจาก 92.5 และ 110.4 ในเดือนธันวาคม เป็น 88.6 และ 107.9 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้านการจ้างงานในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าแยกตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด คิดว่าการจ้างงานจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 98.2 95.5 และ 110.5 ในเดือนธันวาคม เป็น 102.3 105.2 และ 113.8 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 102.8 และ 104.7 ในเดือนธันวาคม เป็น 99.1 และ 92.1 ในเดือนมกราคม ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐดูแลระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบ และค่าบริการสาธารณูปโภค ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1295-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ