สคร. จัดสัมมนา “ชี้แจงนโยบายเรื่องระบบประเมิณคุณภาพรัฐวิสาหกิจ"

ข่าวทั่วไป Thursday April 23, 2009 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กำหนดจัดงานสัมมนาชี้แจงนโยบายเรื่องระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal: SEPA) เมื่อวันที่จันทร์ที่ 30 มีนาคม 2552 ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการสัมมนาและมอบนโยบาย โดยมี Mr. Freddy Soon, Chairman, Singapore Quality Award (SQA) Management Committee บรรยายในหัวข้อ “SQA Development and Promotion in Singapore” และ Mr. George Madhavan, Director of Corporate Development Department in PUB, Singapore’s National Water Agency (SQA Winner 2008) บรรยายหัวข้อ “Mobilization of SQA in Organizational Environment” ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เริ่มนำระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจมาใช้ตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจบรรลุวัตถุประสงค์และนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยในปีนี้ กระทรวงการคลังได้นำระบบ SEPA ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบประเมินผลจากเดิมไปสู่ระบบที่เป็นสากล โดยเป็นการใช้ในปีแรก ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบดังกล่าวจำนวน 7 แห่ง และจะนำเข้าสู่ระบบ SEPA ให้ครบทั้ง 55 แห่งภายในปี 2556 คาดว่าระบบ SEPA จะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจมุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน และยกมาตรฐานการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล “ระบบ SEPA เป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดการประเมินตนเอง (Self Assessment) และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของรัฐวิสาหกิจไทย โดยแนวคิดนี้จะช่วยส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความรับผิดชอบ (Accountability) และมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นเกณฑ์การประเมินผลด้วยระบบ TQA ซึ่งเทียบเคียงได้กับมาตรฐานระดับโลกจะส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีแนวทางที่ดีในการวิเคราะห์สถานะภาพองค์กรและหาแนวทางในการยกระดับองค์กรให้ดีขึ้นในอนาคตต่อไป” นายพฤฒิชัย กล่าว ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของระบบ SEPA คือการมุ่งหวังให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานะองค์กร ค้นหาโอกาสในการยกระดับองค์กร และพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ ระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ หรือ State Enterprise Performance Appraisal: SEPA เป็นระบบการประเมินที่ได้เชื่อมโยงมุมมองที่สำคัญของการพัฒนาประเทศในบริบทของรัฐวิสาหกิจเข้ากับระบบการประเมินตนเอง และใช้พื้นฐานของเกณฑ์การประเมินตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งอ้างอิงจากเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานและใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคุณภาพองค์กรในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เกณฑ์การประเมินตามระบบ SEPA เป็นเกณฑ์ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ สามารถใช้ร่วมกับเครื่องมือการจัดการทั่วไปและปรับใช้ได้กับทุกรัฐวิสาหกิจ เป็นเกณฑ์ที่สนับสนุนมุมมองในเชิงระบบ (Systematic Thinking) โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผลการดำเนินงานกับกระบวนการทำงานที่ดี รวมทั้งเป็นการบูรณาการส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ของระบบ SEPA อันได้แก่ การดำเนินการตามค่านิยมหลัก (SEPA Core Values) ภายใต้บริบทของรัฐวิสาหกิจ (Organizational Profile) ตามเกณฑ์การประเมินฯ ทั้ง 7 หมวด (7 Criteria) เกณฑ์การประเมินผลตามระบบ SEPA ยังอิงรูปแบบของเกณฑ์ TQA เป็นหลักโดยแบ่งมุมมองการพิจารณาเป็น 7 หมวด เช่นเดียวกับ TQA คือ 1.การนำองค์กรรัฐวิสาหกิจ 2.การวางแผนเชิงยุทธศาตร์ 3.การมุ่งเน้นลูกค้า ผู้รับบริการ และการตลาด 4.การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5.การมุ่งเน้นบุคลากร 6.การจัดการกระบวนการ และ 7.ผลสัมฤทธิ์ “รัฐวิสาหกิจที่จะนำระบบ SEPA ไปใช้ในองค์กรนั้น จะเริ่มต้นด้วยการประเมินตนเองในแต่ละหมวดของเกณฑ์การประเมิน ซึ่งจะช่วยให้ทราบสถานภาพองค์กร จุดเด่น (Strength) และโอกาสในการปรับปรุงองค์กร (Opportunity for Improvement) อันจะนำไปสู่การปรับปรุงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในทุกด้าน และสามารถปรับเข้ากับกลยุทธ์และระบบการบริหารจัดการองค์กรของรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.อารีพงศ์ กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2619-5500 แผนกประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ