ม.อ.ต่อยอดจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ วินิจฉัยความผิดปกติในเซลล์เม็ดเลือดช่วยผู้ป่วย ‘ลูคิเมีย’

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 2009 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ.จดอนุสิทธิบัตรเครื่องประดิษฐ์ “อุปกรณ์สลับสัญญาณสี่เฟสสำหรับขั้วไฟฟ้าอินเทอร์ดิจิเทต” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หวังต่อยอดพัฒนาใช้ในวงการแพทย์ สู่ระบบการคัดกรองสารแขวนลอยระดับไมครอน ช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ในเม็ดเลือด โดยเฉพาะกับผู้ป่วย “ลูคิเมีย” ที่สามารถระบุ type ของเซลล์เม็ดเลือดได้ชัดเจนด้วยเวลาสั้นขึ้น ทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างตรงจุด ผศ.ดร.ศักย์ชิน บุญถวิล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะผู้ประดิษฐ์เครื่องอุปกรณ์สลับสัญญาณสี่เฟสสำหรับขั้วไฟฟ้าอินเทอร์ดิจิเทต (Adjustable Phase shift Unit for Interdigitated Electrode) ของมหาวิทยาลัยได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่า ขณะนี้อุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์สลับสัญญาณสี่เฟสแบบปรับค่าได้ และขั้วไฟฟ้าแบบอินเทอร์ดิจิเทตขนาดไมครอน ได้รับการอนุมัติจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้ประดิษฐ์ และได้พัฒนาต่อยอดในภายหลัง โดยตัวอุปกรณ์จะทำหน้าที่สลับสัญญาณไฟฟ้ากระแสสลับและควบคุมจังหวะการเปลี่ยนเฟสสัญญาณที่มีสี่เฟส เพื่อกำหนดการทำงานของขั้วไฟฟ้าอินเทอร์ดิจิเทตขนาดไมครอนให้กำเนิดสนามไฟฟ้าแบบคลื่นเดินทางที่มีความเข้มและทิศ ทางตามที่ต้องการ โดยการทำงานในลักษณะดังกล่าว จะเหนี่ยวนำให้เซลล์แขวนลอยชีวภาพที่มีสมบัติไฟฟ้าต่างกันเกิดปรากฎการณ์ไดอิเล็กโทรฟอเรซิสและไดอิเล็กโทรฟอเรซิสแบบคลื่นเดิน ทางได้ในคราวเดียวกัน ทำให้เซลล์เกาะขั้วไฟฟ้าและผลักออกเมื่อความถี่และเฟสสัญญาณไฟฟ้าเปลี่ยนไป จากเทคนิคดังกล่าว ทำให้ทราบค่าความแตกต่างของสมบัติไฟฟ้าระหว่างเซลล์ปกติและเซลล์ที่ปนเปื้อนสารพิษโลหะหนัก อาทิ สารหนู และยาฆ่าแมลง สามารถคัดแยกเซลล์แขวนลอยที่ปนเปื้อนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงใช้วินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ชีวภาพอื่นได้ โดยอาศัยความแตกต่างของสมบัติไฟฟ้าของเซลล์ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะในระดับโมเลกุล “ด้วยรูปแบบการทำงานของอุปกรณ์สลับสัญญาณสี่เฟสสำหรับขั้วไฟฟ้าอินเทอร์ดิจิเทต เราจึงได้ทำการวิจัยนำร่องเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกบางส่วนภายหลังจากที่ได้พัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อต่อยอดสำหรับงานคัดแยกขนาดของไข่สัตว์น้ำและประเมินสุขภาพของไข่ปลา ศึกษาความเป็นไปได้กับงานแปลงเพศไข่ปลาบางชนิด โดยการกระตุ้นด้วยสนามไฟฟ้าแบบคลื่นเดินทาง รวมถึงประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านโลหิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด และระบุจำแนก type ของผู้ป่วยที่เป็นลูคีเมีย ซึ่งเท่าที่ทราบในขณะนี้ ชนิดของลูคีเมียมีอยู่หลายชนิดแบ่งแยกลงไปได้อีก และถือเป็นประเด็นเปิดที่รอการพิสูจน์ผ่านงานวิจัยในทางโลหิตวิทยา ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการตรวจหา type ของเซลล์เม็ดเลือดของผู้ป่วยได้ภายในระยะเวลาอันสั้นและรวดเร็วขึ้น” ผศ.ดร.ศักย์ชิน กล่าว ทั้งนี้ รูปแบบการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยลูคีเมียโดยปกตินั้น เป็นงานที่สามารถกระทำได้ในระดับห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลโดยทั่วไป โดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ดูความผิดปกติทางกายภาพของเม็ดเลือดขาว จากนั้นจะนำไปตรวจสอบด้วยเทคนิคทางเคมีเฉพาะทางและวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเป็นลูคีเมียหรือไม่ อย่างไรก็ดี การจำแนกและระบุ type ของลูคีเมีย ซึ่งมีอยู่หลายสิบแบบนั้น ไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย เพราะลักษณะทางกายภาพของเซลล์แต่ละ type นั้นคล้ายคลึงกันจนแยกไม่ออก ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการตรวจสอบเฉพาะทางในเชิงลึกที่ต้องอาศัยเวลาในการวินิจฉัย ซึ่งถือเป็นประเด็นเปิดที่ควรศึกษาวิจัยเพราะจะได้ระบุ type ของลูคีเมียได้เพื่อการรักษาทางการแพทย์ที่ตรงจุด ดังนั้นการนำเครื่องมืออุปกรณ์สลับสัญญาณสี่เฟสสำหรับขั้วไฟฟ้าอินเทอร์ดิจิเทตมาประยุกต์ใช้กับประเด็นดังกล่าวโดยอาศัยผลการประเมินสมบัติไฟฟ้าของเซลล์ในเบื้องต้น จะช่วยย่นระยะเวลาการวินิจฉัยไปได้มากพอสมควร กอปรกับเป็นข้อมูลเสริมเพื่อประกอบเป็นแนวทางการวินิจฉัยของแพทย์ต่อผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะผู้วิจัยกำลังเร่งจัดทำธนาคารข้อมูล (data bank) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการวินิจฉัย โดยอิงจากพฤติกรรมการเคลื่อนที่ อัตราเร็ว ทิศทาง ความถี่และความต่างเฟสของสัญญาณไฟฟ้ากับเซลล์เม็ดเลือด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของเซลล์ลูคีเมียแต่ละ type รวมถึงของเลือดแต่ละกรุ๊ป โดยหากโครงการดำเนินแล้วเสร็จ จะนำชุดอุปกรณ์ตรวจสอบต้นแบบไปมอบให้กับทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดของผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไป เผยแพร่โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com หรือ www.mtmultimedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ