กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--เอสเอ็มอี แบงก์
เอสเอ็มอี แบงก์ ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25 %อีกรอบ ดีเดย์ 24 เม.ย.นี้ หลังปรับลดดอกเบี้ยลงในอัตราเท่ากันเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หวังต่อลมหายใจ SMEs โดยช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจวิกฤตส่งผลให้ SMEs ขาดสภาพคล่องหนัก
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างหนักในขณะนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินของลูกค้า ธนาคารจึงได้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.25 % ในส่วนของประเภทสินเชื่อแฟคตอริ่ง สินเชื่อลิสซิ่ง สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อการส่งออก โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารครั้งนี้เป็นการลดครั้งที่ 2 หลังจากธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR)ไปแล้วเมื่อต้นเดือน มี.ค.52 ที่ผ่านมา
โดย สินเชื่อแฟคตอริ่ง ปรับลดจาก 7.75 % เหลือ 7.50% ต่อปี ซึ่งทำให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทเดียวกันของระบบสถาบันการเงิน ที่อยู่ในระดับ 8.5 — 11% ต่อปี สินเชื่อลิสซิ่ง จาก 7.50% เหลือ 7.25% ต่อปี สินเชื่อเช่าซื้อจาก 4% เหลือ 3.75% ต่อปี (Flat Rate) และสินเชื่อเพื่อการส่งออกของลูกค้ารายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท จาก 7.25% เหลือ 7% ต่อปีเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR)
การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารเป็นไปตามสภาวการณ์ตลาดการเงินในปัจจุบัน และเพื่อช่วยเหลือ และเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะสินเชื่อแฟคตอริ่ง สินเชื่อลิสซิ่ง สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นสินเชื่อกำหนดให้อยู่ในโครงการ smePower จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ประกอบการที่มีดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี จะได้รับสิทธิพิเศษอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราที่ประกาศโดยไม่มีการบวกความเสี่ยงใดๆเพิ่ม หากผู้ประกอบการรายที่ไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถใช้สินเชื่อทั่วไปได้ในอัตราที่ประกาศ บวกความเสี่ยงตามประเภทธุรกิจ
นายโสฬส กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลดีทั้งต่อลูกค้าธนาคารที่ได้ลดภาระทางการเงิน และยังเป็นการขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้ประกอบการในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อแฟคตอริ่ง ลิสซิ่ง และเช่าซื้อของธนาคาร เป็นประเภทสินเชื่อที่ธนาคารมีทีมงานสินเชื่อที่ชำนาญการ ซึ่งเดิมลูกค้าในฐานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนการปล่อยกู้สินเชื่อแฟคตอริ่งเป็นอันดับสองของตลาดอยู่แล้ว จึงนับเป็นจุดแข็งของธนาคารที่จะรุกสินเชื่อด้านนี้ ถัดจากนี้ ธนาคารได้เพิ่มกลยุทธ์ให้สาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเจาะลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่มีลูกหนี้ทางการค้ากับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ซัพพลายเออร์ โมเดลเทรดในจังหวัดนั้นๆ ทั้งที่รับเหมางานราชการจาก อบจ. อบต. อปท. คู่ค้ากับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น บิ๊กซี โลตัส เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อไป